Tuesday, May 17, 2005

อะไรทำให้รถไฟJRตกราง

ท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่านคงทราบกันถึงเหตุการณ์รถไฟของบริษัท JR West ตกรางที่เมืองอะมะกะซะกิ จังหวัดเฮียวโกะ (เป็นจังหวัดที่อยู่ติดโอซาก้าที่ผมอยู่เลยครับ และในจังหวัดนี้มีเมืองที่มีชื่อเสียงมากของญี่ปุ่นคือเมืองโกเบนี่เอง) อุบัติเหตุนี้ ผมสามารถพูดได้คำเดียวครับว่า "ช๊อก" โดยเฉพาะสำหรับชาวญี่ปุ่นผู้ที่ภาคภูมิใจกับระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟอันทันสมัยด้วยแล้ว เมื่อได้ยินข่าวนี้ก็แทบจะล้มทั้งยืนเลยครับ และเหตุการณ์นี้ยังถือได้ว่าเป็นอุบัติเหตุทางรถไฟที่ร้ายแรงที่สุดของญี่ปุ่นในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว

สำหรับผู้ที่ทราบข่าวนี้เเล้วสามารถข้ามย่อหน้านี้ไปได้เลย แต่ถ้าอยากอ่านก็ไม่ว่ากัน แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบ ผมจะขอกล่าวโดยสรุปดังนี้ครับ อุบัติเหตุรถไฟตกรางนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2005 เมื่อเวลาประมาณ 9.20 น. เมื่อรถไฟของบริษัท JR West สายทะกะระซึกะ (宝塚)หรือมีอีกชื่อเรียกว่า ฟุกุจิยะมะ (福知山)ได้วิ่งมาด้วยความเร็วสูงกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งสูงกว่าระดับความเร็วสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และได้ตกรางแล้วพุ่งเข้าชนแมนชั่นที่อยู่ข้างรางรถไฟ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 106 คน บาดเจ็บ 540 คน (อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์โยะมิอุริ ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2005)

ท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามข่าวนี้อยู่บ้างก็คงจะพอทราบดีว่า สาเหตุหลักๆของอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากการที่พนักงานขับรถไฟขับรถเร็วเกินกำหนด ผมคิดว่าเมื่อเราศึกษาสาเหตุอันนี้ดีจะสามารถพบถึงข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุที่ แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ก็คือการแข่งขันกันอย่างรุนแรงจนแทบมองหน้ากันไม่ติดระหว่างบริษัทรถไฟ JR West และบริษัทรถไฟเอกชน

ในช่วงแรกที่ผมมาอยู่โอซาก้าใหม่ๆ ผมประทับใจมากกับระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟอันทันสมัยของเมืองนี้ แทบจะเรียกได้ว่าสามารถแข่งกับมหานครโตเกียวได้สบายๆ (คนโอซาก้าคงบอกอย่างภูมิใจว่า "แน่นอนอยู่แล้ว") แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผมอยู่เมืองนี้ไปซักพัก ผมก็เริ่มรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างระบบรถไฟที่นี่กับระบบรถไฟในเขตเมืองโตเกียว และเริ่มรู้สึกว่าระบบขนส่งด้วยรถไฟของโอซาก้าสู้โตเกียวไม่ได้ (ขอโทษคนโอซาก้าด้วยครับที่ต้องพูดแบบนี้)

ในเมืองโตเกียวนั้นบริษัทรถไฟ JR East กับบริษัทรถไฟเอกชนนั้น มีเส้นทางวิ่งร่วมกันหลายเส้นทาง บ่อยครั้งที่มีการใช้สถานีร่วมกัน เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนขบวนรถไฟระหว่างบริษัทได้ นอกจากนี้ที่สถานีรถไฟชินจุกุซึ่งถือว่าเป็นสถานีรถไฟที่สำคัญมากของกรุงโตเกียว บริษัทรถไฟ JR Eastและบริษัทรถไฟเอกชนซึ่งมี2บริษัทคือ โอดะคิว (小田急)และเคอิโอ(京王)ก็ยังใช้ช่องเสียบตั๋วร่วมกัน คือผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลาคืนตั๋วและเดินทางไปอีกบริษัทเพื่อซื้อตั๋วและเสียบตั๋วเข้าสถานีใหม่ สถานีรถไฟเหล่านี้เชื่อมต่อกันเลยครับ สะดวกอย่างยิ่งสำหรับผู้โดยสารที่รีบร้อนไปทำธุระสำคัญ และระหว่างบริษัทรถไ ฟด้วยกันนั้นก็ยังมีการก่อสร้างทางร่วมกัน มีการใช้เส้นทางเดินรถร่วมกันระหว่างบริษัท เช่นเมื่อรถไฟใต้ดินวิ่งขึ้นเหนือดินก็จะกลายเป็นการบริการของอีกบริษัทหนึ่งไป (เหมือนกับรถไฟฮันคิวกับรถไฟใต้ดินซะไกซึจิที่ไปเทนคะจะยะที่คนโอซาก้ารู้จักดี) นอกจากนี้ยังมีการสร้างระบบคิดอัตราค่าโดยสารร่วมกัน และระบบแลกเปลี่ยนพนักงานระหว่างบริษัท (อ้างอิงจากหนังสือ 徹底比較!関東人と関西人 หน้า 32) เรียกกันได้ว่าให้บริการผู้โดยสารกันอย่างเต็มที่

แต่ทว่าสิ่งที่ผมกล่าวมาบนย่อหน้าที่แล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ในเขตคันไซ สถานีรถไฟ JR Osaka มีความยิ่งใหญ่และสำคัญพอๆกับสถานีชินจุกุในโตเกียว แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ เมื่อผู้โดยสารต้องการจะเปลี่ยนไปใช้รถไฟเอกชนต้องเดินอย่างน้อยสิบนาทีมาสถา นีรถไฟเอกชนเช่นฮันคิว(阪急)และฮันชิน(阪神) สำหรับคนไทยสิบนาทีอาจจะน้อย ไม่สำคัญอะไรมาก แต่สำหรับคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะคนโอซาก้า สิบนาทีนั้นสำคัญเหลือเกิน นอกจากนี้ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าบริษัทรถไฟฮันคิวและฮันชินยังไม่ยอมตั้งชื่อสถานีตัวเองว่า โอซาก้าอีกต่างหาก แต่หันไปใช้ อุเมดะ (梅田)แทน ทั้งๆที่สถานที่ก็คือที่เดียวกัน เป็นที่น่าฉงนงงงวยสำหรับเราๆท่านๆเป็นอย่างยิ่ง และสำหรับนักท่องเที่ยวแล้วก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย แสดงให้เห็นว่าตอนเริ่มก่อสร้างสถานีใหม่ๆคงฟึดฟัดกับ JR น่าดู

นอกจากนี้บริษัทรถไฟทั้งสามข้างต้นยังเปิดบริการวิ่งรถระหว่างโอซาก้าและโกเบ ซึ่งเส้นทางวิ่งใกล้กันมาก แทบจะเรียกได้ว่าสามารถเห็นรถไฟต่างบริษัทวิ่งสวนกันเลย สถานีก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ดันตั้งชื่อสถานีไม่เหมือนกัน เช่นสถานีอะชิยะ (芦屋)ของ JR และฮันชิน แต่ฮันคิวเรียกว่าอะชิยะกะวะ (芦屋川)สถานีร๊อคโค (六甲)ของฮันคิว JR เรียกของตัวเองว่า ร๊อคโคมิจิ (六甲道)และสถานีโอะกะโมะโตะ (岡本) ของฮันคิว ซึ่งอยู่ห่างกับสถานีของ JR บล๊อกถนนเดียว แต่ JR ดันเรียกสถานีตัวเองว่า เซ็ทซึโมะโตะยะมะ (摂津本山)ผมเองก็ไม่รู้นะครับว่าสาเหตุที่เขาตั้งชื่อต่างกันเพราะอะไร แต่ผมตั้งข้อสังเกตุว่ามันอาจจะแสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันของบริษัท JR กับบริษัทรถไฟเอกชนครับ ท่านผู้อ่านคิดว่ายังไงครับ

น่าสงสาร JR Westจริงๆครับที่ต้องมาทำธุรกิจรถไฟในดินแดนที่ได้ชื่อว่า สวรรค์ของรถไฟเอกชน(私鉄天国) อย่างคันไซ เพราะนอกจากฮันคิวและฮันชินแล้วยังมีบริษัทรถไฟเอกชนอีกมากในเขตคันไซเช่นเคอิฮัง (京阪)ที่วิ่งระหว่างเกียวโต-โอซาก้า ซันโย(山陽電鉄)ที่วิ่งไปฮิเมะจิ(姫路)คินเท็ทซึ (近畿日本鉄道)ที่วิ่งระหว่างโอซาก้ากับนะระ อิเซะ(伊勢) จนถึงนะโกะยะ และนันไก(南海)ที่วิ่งระหว่างโอซาก้ากับวะกะยะมะ(和歌山)ทั้ง 4 บริษัทนี้รวมทั้ง JR ฮันคิวและฮันชิน รวมบริษัททั้งหมด 7 บริษัท ได้เปิดบริการเดินรถไฟครอบคลุมทั่วอาณาเขตคันไซเลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อสถานหารณ์เป็นดังนี้ ในขณะที่บริษัทรถไฟเอกชนใช้นโยบายราคาถูกมาแข่ง JR ได้หันมาใช้นโยบายแข่งขันโดยใช้ความเร็วเป็นตัวชูโรง JR West เปิดตัวรถเร็วแบบใหม่ (新快速)ที่วิ่งด้วยความเร็วถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่วิ่งเร็วรองแค่ชินกังเซ็น (新幹線)เท่านั้น และก็เป็นรถไฟชินไคโซะกุ(新快速)นี้แหละครับที่ประสบอุบัติเหตุตกราง ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมทางรถไฟที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีของญี่ปุ่น

2 Comments:

At 11:59 PM, Blogger Steelers(钢人) said...

test test

 
At 11:49 AM, Blogger Steelers(钢人) said...

ขอบคุณมากครับที่เข้ามาอ่านและโพสต์คอมเมนต์ คือตอนนี้JRไม่ใช่ของรัฐแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น แต่เขามีข้อได้เปรียบตรงที่เขามีเครือข่ายรถไฟที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แล้วก็ผมคิดว่าก็มีแค่ลูปไลน์แค่นั้นแหละที่ JRไม่มีคู่แข่ง นอกจากนั้นทุกสายมีคู่แข่งทั้งนั้น

 

Post a Comment

<< Home