Saturday, December 24, 2005

รถไฟฟ้า ความฝัน หรือ ความจริง バンコクの電車、幻か現実か

กรุงเทพฯเป็นมหานครที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เนื่องด้วยมีสถานที่สำคัญ สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากมาย และเป็นเมืองเเรกของเมืองไทยที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะต้องเดินทางมา

นอกจากนี้กรุงเทพฯยังเป็นมหานครที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากที่สุดของประเทศไทย มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่าสิบล้านคน ผมคิดว่าสามารถเทียบชั้นศักดิ์ศรีกับมหานครโตเกียวหรือว่ามหานครใหญ่ๆทั่วโลกได้อย่างสบาย

มีศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาคนหนึ่งชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบเมืองไทยมากเคยบอกผมว่ากรุงเทพฯมีจำนวนตึกสูงมากกว่านครโตเกียวเสียอีก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจในกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรของผม และก็เชื่อว่ากรุงเทพฯมีศักยภาพอย่างสูงในฐานะเมืองหลวงที่จะนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าได้

แต่เมื่อผมมาคิดดูดีๆ ก็คิดว่ากรุงเทพฯ จะไปเทียบเคียงกับมหานครโตเกียวได้อย่างไร เพราะกรุงเทพฯไม่มีลักษณะที่ดีประการหนึ่งของมหานครที่ดีควรจะมี นั่นก็คือ ระบบการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ

จนกระทั่งเมื่อผมได้ยินว่ารัฐบาลใจปั้มจะลงทุนสร้างระบบขนส่งสาธารณะระบบรางทั้งๆที่เศรษฐกิจไทยตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง จะเป็นเพราะเหตุผลที่ว่าจะยึดเอาคะแนนเสียงจากชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯที่ไม่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยหรืออาจจะตั้งโครงการเมกะโปรเจกต์นี้เพื่อจะให้เป็นโต๊ะจีนให้บุคคลในคณะรัฐบาลอันทรงเกียรติทั้งหลายมาร่วมดินเนอร์กันพร้อมหน้าหรืออย่างไรก็ตาม แต่ผมก็ยังคงคิดว่าถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ

เหตุผลสำคัญที่ผมสนับสนุนนโยบายนี้มีหลายประการ ดังนี้
1. ผมคิดว่าการสร้างถนนไม่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้อีกต่อไปแล้ว ถ้าจะเปรียบเทียบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ง่ายๆก็คือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคภายใต้ข้อสมมุติการคาดหวังที่สมเหตุสมผล (rational expectations) การสร้างถนนเพิ่มก็เหมือนกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบขยายตัวโดยที่นโยบายนั้นสามารถถูกคาดการณ์ (anticipated) ได้จากประชาชน ซึ่งจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจแบบขยายตัวนั้นไม่มีประสิทธิภาพ และแน่นอนว่าประชาชนสามารถคาดการณ์ได้ว่าถนนจะถูกสร้าง ทำให้ประชาชนซื้อรถยนต์มากขึ้นด้วยความหวังที่ว่ารถจะติดน้อยลง ในที่สุดในระยะเวลาอันสั้นรถก็จะกลับมาติดเหมือนเดิม เหตุผลนี้สามารถถูกพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีจากนโยบายแก้ไขปัญหาจราจรระยะสั้นด้วยการสร้างและตัดถนนเพิ่ม การสร้างสะพานข้ามทางแยกและอุโมงค์ลอดสี่แยกต่างๆตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้ในระดับที่น่าพอใจและสภาพการจราจรก็กลับมาคับคั่งเหมือนเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างถนนในที่ที่ควรสร้างก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ และก่อให้เกิดการพัฒนาของสองข้างทางที่ถนนตัดผ่าน กรุงเทพฯนั้นถือว่ามีอัตราพื้นที่ถนนต่อพื้นที่ของทั้งเมืองต่ำอยู่ เท่าที่ผมจำได้ ประมาณไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กรุงนิวยอร์คมีถึง 25% กรุงโตเกียวมี 14% โดยประมาณ โปรดสังเกตด้วยว่าเมืองสองเมืองนี้มีระบบขนส่งรถไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งเมืองอยู่แล้ว ยังมีอัตราพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองสูงกว่ากรุงเทพฯเสียอีก สิ่งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯยังมีพื้นที่ที่สามารถสร้างถนนหนทางได้อีกพอสมควร โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี ที่มีถนนสายหลักอยู่ไม่กี่สาย ส่วนใหญ่จะเป็นซอยเล็กซอยน้อยเสียมาก ดังนั้นถึงเวลาที่เราจะต้องวางระบบผังเมือง และวางแผนสร้างถนนให้เป็นระบบเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป เมื่อกรุงเทพฯเจริญเติบโตขึ้นอย่างไม่เป็นระบบแล้วอาจจะสายเกินไป

2. ที่ดินควรจะถูกเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นมากกว่าที่จะเอาไปทำที่จอดรถ ที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตที่มีจำกัดที่สุดในบรรดาปัจจัยการผลิตด้วยกัน ถึงแม้จะมีการสร้างที่ดินเทียมเพิ่มขึ้นมาเช่นการสร้างตึกสูง แต่ก็ต้องใช้เวลาในการสร้างนาน ทุกวันนี้รถยนต์ได้กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองโดยที่เราไม่ได้สังเกต ในประเทศสหรัฐอเมริกา รถยนต์ครอบครองเนื้อที่ถึงเกือบ 1 ใน 3 ของเมือง เมื่อจำนวนรถมาก จำนวนที่จอดรถก็ต้องมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ที่จอดรถอาจจะเป็นได้ทั้งอาคารใหญ่โตทันสมัยที่มีการวางระบบการเดินรถเป็นระเบียบ เช่นที่จอดรถใต้อาคารธรรมศาสตร์ ๖o ปี หรืออาจะเป็นลานจอดรถบนดินที่เปลืองพื้นที่โดยไม่จำเป็น อย่างเช่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พื้นที่อาคารที่จอดรถกินพื้นที่มากกว่าครึ่งของพื้นที่ธนาคารทั้งหมด รวมทั้งพื้นที่ของสถานที่อื่นที่ทางธนาคารไปขอให้พนักงานนำรถเข้าไปจอดเพราะที่จอดรถของธนาคารมีไม่เพียงพอ จริงอยู่ที่ที่จอดรถเหล่านั้นถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน และเราคงจะโทษการสร้างที่จอดรถไม่ได้ แต่ผมคิดว่ามันน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่พื้นที่เหล่านั้นสามารถเอามาทำประโยชน์ได้อีกมาก ถ้าคนเราไม่มีรถมากขนาดนั้น เช่นเราสามารถสร้างสวนสาธารณะหรือสร้างห้องสมุดแทนได้ เป็นต้น

3. ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม อันนี้คงไม่ต้องพูด เห็นๆกันอยู่แล้ว

4. การคมนาคมที่สะดวกเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาที่ดิน และก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากมายมหาศาล

เราจะสังเกตง่ายๆจากเกมซิมส์ซิตี้ ถ้าที่ดินไหนไม่มีถนนตัดผ่าน ก็จะไม่เจริญเสียที ในขณะที่ที่ดินข้างๆมีถนนตัดผ่าน จะเจริญข้ามหูข้ามตากันไปเลย

นอกจากนี้ เราสามารถเรียนรู้การใช้เส้นทางรถไฟเป็นตัวจักรในการพัฒนาที่ดินได้เป็นอย่างดีจากญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นถือว่าเขามีชีวิตผูกพันกับรถไฟมาก แทบจะเรียกได้ว่าวันไหนไม่ได้นั่งรถไฟจะรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเลยทีเดียว และด้วยวันๆมีคนใช้รถไฟมากมายนี่เอง ที่ดินรอบๆสถานีรถไฟก็กลายเป็นทำเลทอง มีการสร้างห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายรอบๆสถานีรถไฟ โดยในสถานีใหญ่ๆนั้น บริษัทที่ดำเนินธุรกิจรถไฟจะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินด้วยตัวเอง มีการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงแรมหรูหรามากมายนอกจากนี้การตั้งราคาค่าเช่าอพาร์ทเมนต์ในญี่ปุ่นก็คำนวณกันจากระยะทางจากสถานีรถไฟนี่เอง

ในกรุงเทพฯสถานการณ์อาจจะเป็นตรงกันข้าม ที่ดินไหนใกล้สถานีรถไฟหรือใกล้รางรถไฟจะไม่มีใครไปอยู่กัน และก็จะมีชุมชนแออัดขึ้นโดยรอบ ทั้งนี้เพราะว่ารถไฟแทนที่จะให้ความสะดวก กลับก่อให้เกิดเสียงที่เป็นมลพิษเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านการพัฒนาที่ดินในกรุงเทพฯขนานใหญ่เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิสร้างเสร็จ และความเจริญจะเป็นทวีคูณเมื่อระบบรถไฟฟ้าเจ็ดเส้นทางเปิดใช้บริการอย่างสมบูรณ์

ในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าจะจัดการอย่างไรกับบริเวณพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิดี บางคนถึงกับสนับสนุนให้สถาปนาเป็นเมืองใหม่เป็น “นครสุวรรณภูมิ”ในฐานะเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกับพัทยาและภูเก็ตกันเลยทีเดียว บางคนสนับสนุนเลยเถิดไปถึงสถาปนาเป็น “จังหวัดที่77”ของประเทศไทยไปเลย เพื่อลดข้อจำกัดทางด้านการแก้กฏหมาย

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิได้ถูกตีกรอบไว้แล้วว่าจะต้องเป็น “เมืองโลจิสติกส์”แน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นทำเลทองที่นักธุรกิจจับจ้องไม่กระพริบตา ทั้งธุรกิจจัดสรร คลังสินค้า นิคมอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการขนส่งและการบิน รวมไปถึงค้าปลีกและธุรกิจความบันเทิง ซึ่งผมคิดว่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจอีกมากมายมหาศาล เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกมาก ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ และรับรองได้ว่าผลบุญอันนี้จะต้องแพร่ไปยังเมืองรอบข้างที่มีศักยภาพแต่กำลังโหยกระหายระบบการจัดการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เช่นจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมมากมาย ท่าเรือแหลมฉบังและอีสเทิร์น ซีบอร์ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ท่าเรือแหลมฉบังจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำที่สำคัญที่สุดของประเทศทันที่ที่ท่าเรือคลองเตยย้ายเข้าไปรวมด้วย เกิดการรวมระบบขนส่งเป็นหนึ่งเดียว และผมคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอันมาก เนื่องด้วยประเทศไทยยังมีความต้องการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างนี้เป็นจำนวนมาก คือเมืองไทยยังมีศักยภาพที่สูงมากอยู่นั่นเอง

ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิเองนั้น จะกลายเป็นศูนย์กลางการบินเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะมีการโยกย้ายธุรกิจการบินจากดอนเมืองมาทั้งหมดแล้ว ยังมีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 6 เท่ารองรับธุรกิจขนส่งทางอากาศและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมายที่ได้กล่าวไปแล้ว

และที่สำคัญเมื่อระบบรถไฟฟ้าเจ็ดสายเปิดบริการเมือไหร่ เส้นทาง “ดิน น้ำ ฟ้า”ก็จะถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน เมืองขนส่งสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ และศุนย์กลางอุตสาหกรรมภาคตะวันออกก็จะมีศักยภาพครบเครื่อง

สำหรับในตัวเมืองกรุงเทพฯเองนั้น ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล รถไฟฟ้าแต่ละสายจะมีจุดที่ถือว่าเป็น “แม่เหล็ก”ดึงดูดธุรกิจพัฒนาที่ดินเหมือนกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ลองมาจินตนาการกันดูนะครับ สถานีบางซื่อ จะกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งแห่งใหม่ของกรุงเทพ เป็นชุมทางรถไฟแห่งใหม่แทนหัวลำโพง ผมคิดว่าสามารถเปรียบได้กับสถานีรถไฟโตเกียวของญี่ปุ่นเลยทีเดียวครับ สถานีบางเขนจะกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาและที่พักอาศัย สถานีหลักสี่ จะกลายเป็นศูนย์ราชการ สถานีดอนเมืองจะกลายเป็นศูนย์การค้านานาชาติ พื้นที่ส่งเสริมวัฒนธรรม และศูนย์นิทรรศการ สถานีรังสิต จะเป็นศูนย์ชุมชนสถานีชานเมือง สถานีตากสินกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งสู่ภาคตะวันตก และสถานีหัวลำโพงจะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ สำนักงานห้างร้านต่างๆ

ในจำนวนนี้ “ศูนย์มักกะสัน”ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นแหล่งธุรกิจที่โดดเด่นที่สุด เพราะคาดกันว่าจะเป็นศูนย์รวมของทั้งธุรกิจ ที่พักอาศัย ธุรกิจบันเทิง ศูนย์รวมสินค้าโอท็อป ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และแหล่งช้อปปิ้ง ทั้งนี้เพราะสถานีมักกะสันนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์เชื่อมตัวเมืองกรุงเทพฯกับสนามบินสุวรรณภูมิ ศักดิ์ศรีเปรียบได้กับสถานีชินจุกุของมหานครโตเกียวเลยทีเดียว

ปล: จริงๆแล้วผมเขียนบทความนี้นานมาแล้ว สมัยที่รัฐบาลไทยยังไม่ถังแตกเหมือนปัจจุบันนี้ ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนเป็นยังไงบ้าง อย่างไรก็ตามผมก็ยังหวังว่าสิ่งที่ผมจินตนาการไว้ จะไม่ได้กลายเป็นแค่ความฝันไป

1 Comments:

At 9:12 AM, Anonymous Anonymous said...

ช่วยลุ้นพิตต์สเบิร์กเข้าเพลย์ออฟ สุดตัวเลยนะเนี่ย

อาจเป็นความจริง ไม่ใช่ฝัน ก็ได้นะ

 

Post a Comment

<< Home