การปฐมนิเทศนักเรียนทุนรัฐบาล
ตามที่ผมได้เกริ่นไปในบทความที่แล้วเกี่ยวกับกิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนทุนรัฐบาลเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ถึง 2 มิ.ย. ผมคิดว่าโอกาสที่จะไปฟังการปฐมนิเทศนี้มีแค่ครั้งเดียวในชีวิต และมันก็มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย สมควรที่ผมจะนำมาบอกเล่า90กับท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน
แรกเริ่มเมื่อดูกำหนดการต่างๆของการปฐมนิเทศนี้แล้ว ผมก็คิดว่าน่าสนใจครับ เพราะส่วนใหญ่เขาเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ของ ก.พ.และบุคคลที่มีชื่อเสียงมาให้โอวาทและถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลที่เขาเน้นย้ำเป็นพิเศษว่า การเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไม่ได้รับประกันการประสบความสำเร็จเสมอไป
นอกจากนี้ยังมีที่กิจกรรมการสร้างเครือข่ายนักเรียนทุนรัฐบาล การบรรยายโดยคุณพะนอม แก้วกำเนิด เรื่องการเป็นข้าราชการที่ดีภายใต้เบื้องพระยุคลบาท (อาจจะฟังชื่อดูแล้วน่าเบื่อ แต่จริงๆแล้วสนุกสุดๆๆๆๆๆๆๆๆ)และการบรรยายโดยดร.สุวิทย์ ยอดมณี เรื่องเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของชาติ สรุปแล้วการปฐมนิเทศครั้งนี้มีเนื้อหาที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 หัวข้อง่ายๆ คือ
1. การไม่ประสบความสำเร็จของนักเรียนทุนรัฐบาล
2. การประสบความสำเร็จของนักเรียนทุนรัฐบาล
เป็นไง หัวข้อที่ผมแบ่ง ง่ายเกินไปมั้ย ผมคิดว่าไฮไลท์ของการปฐมนิเทศครั้งนี้ก็อยู่ที่การไม่ประสบความสำเร็จของ นรท.เนี่ยแหละครับ ทั้งตอนระหว่างเรียนอยู่กับตอนกลับมาทำงานแล้ว
มี นรท.หลายคนครับที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คนไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะมีความมั่นใจในตัวเองสูง คิดว่าตัวเองเก่ง คิดว่าข้าแน่ ข้าเป็นที่หนึ่งของประเทศ แพ้ใครไม่เป็น สิ่งที่คนพวกนี้ลืมไปก็คือ จริงอยู่ที่เขาอาจจะเก่งมากในเมืองไทย แต่เมื่อเขาออกไปเผชิญโลกกว้าง ได้ไปพบกับคนเก่งจากหลากหลายประเทศทั่วโลกเมื่อคราวไปเรียนต่อ เขาจะไม่ใช่คนเก่งที่สุดอีกต่อไป สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทาง ก.พ.เน้นเป็นพิเศษครับ มีนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง 2-3 คนที่เป็นแบบนี้ สุดท้ายก็เรียนไม่รอด ต้องกลับมาเรียนปริญญาตรีที่เมืองไทยครับ
ดังนั้นเมื่อคิดได้แล้วว่าเราไม่ใช่คนเก่งที่สุดเสมอไป สิ่งที่ก.พ. เน้นเป็นพิเศษอีกก็คือ อย่าเรียนอย่างเดียว ต้องเข้าสังคม ต้องทำกิจกรรมต่างๆด้วย ส่วนใหญ่นักเรียนที่คิดว่าข้าเก่ง มักจะทำอะไรทำคนเดียว อ่านหนังสือก็อ่านคนเดียว ทำการบ้านก็ทำคนเดียว สุดท้ายเกรดสู้คนหัวดีน้อยกว่าไม่ได้ หัวดีสำคัญครับ แต่สำคัญน้อยกว่าความร่วมมือกันระหว่างเพื่อนร่วมเรียน
สิ่งสำคัญต่อมาที่ทำให้ นรท.ไม่ประสบความสำเร็จก็คือ ความเหงาครับ มีนรท.คนหนึ่งไปอยู่อเมริกา ที่ลองไอแลนด์ เมืองไม่มีคนไทยอยู่เลย นักเรียนคนนี้จะเป็นคนที่ตื่นตระหนก กระวนกระวายง่ายมาก เพราะจะคิดอยู่เสมอว่ามีคนตามหลังเขามา เขาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ส่งอีเมล์ และโทรศัพท์มาหาสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในอเมริกาวันละสองสามครั้ง ทุกวันจนนักเรียนไทยคนนี้ไม่เชื่อใครอีกต่อไปแล้วนอกจากพี่คนหนึ่งที่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนคนที่คอยบอกและให้กำลังใจเขาตลอดเวลาว่าต้องทำอย่างไรบ้าง สุดท้ายรู้สึกว่าเด็กคนนี้จะเรียนไม่จบ ต้องกลับมาเมืองไทยครับ
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันที่ทางก.พ.เล่ามาก็คือ พวกฝรั่งเขาจะมีโรคอยู่โรคหนึ่งครับ ผมจำชื่อภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่อาการของมันคือ คนที่เป็นโรคนี้อยู่ๆก็จะอารมณ์เสียง่าย อยู่ๆก็หัวเสีย ด่าทอคนอื่นเสียๆหายๆ โดยที่สาเหตุนั้นอาจจะไม่มีอะไรเลย ที่สำคัญก็คือมีเด็กไทยบางคนเมื่อไปอยู่อเมริกาแล้ว เกิดติดโรคนี้ขึ้นมา ทำอาหารไทยแล้วอยู่ก็ชักมีดไล่ฟันเพื่อนเข้าซะอย่างงั้น เดชะบุญที่ไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น(คิดเองนะ)
เรื่องทางจิตใจผ่านไปแล้ว มาถึงเรื่องทางกายบ้าง นักเรียนไทยเมื่อไปอยู่ต่างชาติต่างภาษา ย่อมจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุให้มาก มีอุทาหรณ์อยู่เรื่องหนึ่งครับ พึ่งเกิดมาประมาณเดือนเดียวเอง เรื่องคือมีนักเรียนทุนรัฐบาลเรียนที่อยู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชอบการขี่จักรยานเป็นชีวิตจิตใจ ที่น่าเศร้าก็คือวันหนึ่งเขาขี่จักรยานข้ามถนน แต่ไม่ดูให้รอบคอบ รถเมล์สองชั้นขับเลี้ยวซ้ายมาพอดี ถูกรถเมล์ทับเสียชีวิตคาที่เลย เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี สำหรับนักเรียนไทยทุกคนที่อยู่ต่างประเทศนะครับ
เรื่องความสัมพันธ์กับอาจารย์ที่ปรึกษาก็สำคัญครับ มีนักศึกษาไทยอยู่คนหนึ่งเรียนที่อังกฤษมาหกปีแล้ว ยังไม่จบเลย เพราะเขาไม่สามารถหาหัวข้อวิจัยได้ แต่แทนที่เขาจะไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเขา เขากลับพยายามหนี หลบหน้า ไม่ยอมเจออาจารย์เขาเลย คงจะเป็นเพราะอาย ไม่กล้าสู้หน้าเพราะตัวเองทำวิจัยไปไม่ถึงไหนกระมัง แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้อนาคตท่าทางจะแย่ซะแล้ว
เรื่องความคาดหวังของพ่อแม่ญาติพี่น้อง นี่ก็เป็นปัญหาสำคัญครับ เรื่องนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนกระโดดตึกฆ่าตัวตายที่เยอรมันลืมไปหรือยังครับ เรื่องนี้ผมได้ยินมาว่าไม่กี่คืนก่อนกระโดดตึกนั้น เขาได้โทรมาหาพ่อแม่เขาที่เมืองไทย บอกว่าไม่ไหวแล้ว อยากกลับเมืองไทยมาก แต่ด้วยความที่พ่อแม่ของเขาอายคนรู้จักที่ว่าลูกตัวเองเรียนไม่จบกลับมาเมืองไทย ก็เลยขอร้องแกมบังคับให้ลูกอยู่ต่อ ผลก็เลยเป็นแบบนี้แหละครับ เนื่องจากคงไม่มีพ่อแม่คนไหนอ่านบทความของผมตรงนี้ ดังนั้นผมจึงอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ต่อท่านผู้อ่านทั้งหลายที่กำลังเป็นนักเรียนอยู่ตอนนี้ครับ
นอกจากระหว่างเรียนอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่นักเรียนทุนทุกคนที่เรียนจบกลับมา จะสามารถประสบความสำเร็จกันทุกคน สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากก็คือความทรนงตน คิดว่าตนเองเป็นนักเรียนนอก หัวก้าวหน้า เมื่อกลับมาแล้วก็จะพยายามเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ในหน่วยงาน ไม่พอใจอะไรซักอย่างเดียว สิ่งนี้ผมว่าสำคัญมากๆครับ และสิ่งนี้นี่เองครับที่เป็นตัวถ่วงที่สำคัญที่จะทำให้นักเรียนนอกไม่สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จให้กับตนเอง หน่วยงาน สังคมและประเทศชาติได้สมตามความมุ่งหมายดั้งเดิมของก.พ. เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วนอกจากจะมีความทรนงตนแล้ว ยังมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกว่าจบมาจากประเทศไหน สิ่งพวกนี้มันเป็นสิ่งที่ควบคุมยากนะครับ ดังนั้นผมคิดว่านอกจากนักเรียนนอกจะต้องเรียนรู้ทางวิชาการแล้ว ยังต้องพยายามเรียนรู้การทำงานเข้ากับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ที่ดูแล้วมี "ความอาวุโสทางการศึกษา" น้อยกว่า
นอกจากนี้สิ่งที่ผมเห็นด้วยกับทางก.พ.อีกข้อหนึ่งก็คือไม่ว่านักเรีบนจะอยู่ประเทศไหน สิ่งสำคัญคือต้องพยายามคบนักเรียนไทยไว้บ้าง ไม่ใช่ว่าจะเรียนภาษา หาประสบการณ์อย่างเดียว ยามเรามีปัญหา ไม่มีใครที่ไหนจะมาช่วยเราหรอกครับ นักเรียนไทยด้วยกันนี่แหละครับจะเป็นที่พึ่งได้ดีที่สุด สมาคมนักเรียนไทยต้องมีนโยบายที่พยายามทำให้นักเรียนไทยเกาะกลุ่มกันไว้ แต่ไม่ต้องแน่นมาก ที่สำคัญที่ควรจะเน้นกว่าความสนุกสนานของกิจกรรมที่จัดเพื่อกระชับมิตร ก็คือยามใดที่นักเรียนไทยคนใดคนหนึ่งมีปัญหา นักเรียนไทยกลุ่มใหญ่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งนี้สำคัญกว่ามากครับ
ขึ้นชื่อว่านักเรียนทุนรัฐบาลย่อมเป็นกลุ่มคนที่มีเกียรติ ถือเป็นตัวแทนของประเทศไทยที่จะต้องทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีของนักเรียนไทยด้วยกัน เมื่อกลับมาแล้วต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี การประสบความสำเร็จที่ผมพูดถึงนั้นไม่ใช่เป็นความก้าวหน้าในการงาน มีเงินเดือนสูงๆ มีอำนาจมากๆ แต่มันคือการที่เราจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาจากต่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้พื้นฐานของความสามัคคีได้อย่างไร
7 Comments:
นักเรียนทุนที่สามารถสร้าง E.Q. ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่า(อันนี้ยิ่งดี) I.Q. ได้... ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตแล้วล่ะ
ต้องมองไปถึงชีวิตการทำงานหลังเรียนจบเลย เพราะเป็นชีวิตที่ไม่ได้อยู่กับหนังสือ,แลป หรือห้องสมุด และกับเพื่อนแค่ไม่กี่คน... จำเป็นต้อง
มีทักษะและความเข้าใจเพื่อปรับตัวอยู่ร่วมกับคนกลุ่มใหญ่ให้ได,้ รู้จักการทำงานเป็นทีม แถมในบางครั้งต้องงัดเอาจิตวิทยาออกมาใช้อยู่บ่อยๆ
เพราะต้องเจอบททดสอบจากคนร้อยพ่อพันแม่ในที่ทำงาน
ความรู้ที่เรียนมาจากเมืองนอกบางอย่างจะเอามาใช้ตรงๆ ทื่อๆ เหมือนก๊อบปี้มาจากตำราก็คงไม่ได้.. น่าจะเป็นข้อเสียของเด็กเรียนเก่ง(บางคน)
ที่ยึดติดกับทฤษฏีจนแกะไม่ออก เถียงคอเป็นเอ็นว่าเมืองนอกบอกว่าดี,ใช้ได้แล้ว ลุยหรือทำตามไปได้เลย... ลืมไปนิดว่าทฤษฎีมันก็ต้องยืดหยุ่น
และทำยังไงก็ได้ที่จะดัดแปลงหรือปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของเมืองไทยให้ได้มากที่สุดด้วย
เพิ่งจะรู้จากคุณ steelers ว่านักเรียนนอกมีการแบ่งกลุ่มแบ่งประเทศกันด้วย... หดหู่ๆๆๆ !!! จากที่มีประสบการณ์เคยทำงานกับนักเรียนทุน ก.พ.
(และไม่ ก.พ.) ค่อนข้างเจอกับคนที่ไม่ยึดติดกับความเป็น "นักเรียนนอก" คือกลับมาก็ลุยๆๆๆ ทำงานกับกลุ่มพี่ๆ ป้าๆ อย่างเต็มที่สุดๆ และไม่ถือตัว
นั่งกินข้าวจานละ 15 บาทในโรงอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยและมีความสุข.. เจออยู่บ้าง 2-3 คนที่ "เคลิ้ม" ในความ "สูงส่ง" ของการเป็นนักเรียนนอก
คนที่ไม่ประสบความสำเร็จ... คือคนที่ต้องการวัคซีนชื่อ "E.Q" ด่วนค่ะ !!!
ต้องพยายามกันต่อไปครับ เอาใจช่วยครับ
อย่าว่าแต่นักเรียนทุนเลย คนที่มาทุนส่วนตัวก็ประสบกับปัญหาที่นายเล่ามาไม่แพ้กันหรอก คิดว่ามันขึ้นกับการปรับตัวและทัศนคติของแต่ละคนมากกว่า แต่เชื่อว่าไม่ว่าจะมาด้วยทุนอะไร ทุกคนก็มีโอกาสที่จะช่วยประเทศชาตืได้ไม่ต่างกันเลย
เห็นด้วยนะว่าเด็กที่เรียนเก่งมากๆ มันจะมีปริมาณสารอีโก้ในตัวสูง เพราะเพื่อนที่อยู่โรงเรียนเก่าคนหนึ่งเป็นแบบนี้เป๊ะ เอาแต่เรียน กิจกรรมไม่สน มนุษย์สัมพันธ์แย่มาก แล้วมักจะชอบดูถูกดูแคลนเพื่อนที่เรียนไม่เก่ง ส่วนตัวเราว่าคนเก่งแบบนี้ไม่น่าจะกลับมาทำให้ประเทศชาติเจริญได้ เพราะพื้นฐานมันเห็นแก่ตัว ละเลยส่วนรวมอยู่แล้ว รู้แต่จะรับ แต่ไม่เคยให้ใคร
เราว่าความฉลาดหรือความเก่งของคนเรา มันไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่ในกรอบของเรื่องการเรียนหรือเกรดอันสวยหรูนะ มันรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมเก่ง,มนุษย์สัมพันธ์ดี,ควบคุมอารมณ์ได้ดี ฯลฯ แต่สังคมมักไปตีกรอบในเรื่องนี้ เด็กบางคนไม่เก่งเรียน แต่ไปเก่งอย่างอื่นก็เลยถูกกดดันจากมาตรฐานเบี้ยวๆ ยังนี้
ทุกคนมีที่ทางให้ได้ใช้ความเก่ง/ความฉลาดในแบบของตัวเอง เพียงแต่ต้องเลือกสนามให้ถูก มีความเชื่อมั่นและกล้าๆ หน่อยก็น่าจะฉลุย
เรื่องปัญหาอื่นๆ ของเด็กทุน อย่างเรื่องจิตใจเนี่ย เราเห็นด้วยกับ Warm ว่ามันเป็นเรื่องของการปรับตัวและทัศนคตินะ ไปเรียนอยู่ไกลๆ มันต้องเจอทั้งความเหงา,ความโดดเดี่ยว,ความกดดัน,และความคาดหวัง แต่ถ้าเรารู้จักบริหารอารมณ์และความคิดตัวเองให้เข้าที่เข้าทางเป็น เรื่องอย่างนี้ก็น่าจะผ่านพ้นไปได้ ดูอย่างป๋า Warm เป็นตัวอย่าง ซูฮกๆ... จบเอกมีดอกเตอร์นำหน้าเมื่อไร คงต้องเลี้ยงฉลองกันสักเดือน
เช่นเดียวกับว่าที่ Dr.Steelers นะเพื่อน เรารู้ว่านายทำได้
งั้นเราจะรอ Dr. big ด้วยนะ
จะว่าไปแล้วรุ่นเราน่าจะมี Dr เยอะพอสมควร ตั้งแต่ Dr.Warm, Dr. Aum, Dr. Need, Dr. Lek, และ ภูมิใจเสนอ Dr. แป้ง แป้งจะไปเรียนเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาเอกที่ UNC ปีนี้
เฮ้ย แป้งก็จะมาเรียนด้วยเนี่ยนะ
อย่างนี้นายก็มีเพื่อนเรียนด้วยกันแล้วอ่ะดิ ดีแล้ว มีคนไทยเรียนด้วยกัน ช่วย ๆ กันเรียน
ปล ที่หนึ่ง. เห็นกระทู้แนะนำไกลบ้านแล้วเศร้าใจ เวลาเปลี่ยนใจคนเปลี่ยน ช่างกระไร ใจหนอใจคน
ปล ที่สอง. Ph.D.Econ ขายดีว่ะ
อาจมี Dr. พึ่ง ด้วยอีกคน ซึ่งตอนนี้กำลังบวชอยู่ที่วัดประยูร
Post a Comment
<< Home