Saturday, June 25, 2005

หน้าที่ของนักเรียนนอก

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสดูรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” คุณสนธิได้ใช้เวลาเกือบค่อนรายการพูดถึงความคิดของเขาที่ว่า “สังคมไทยได้ล่มสลายลงไปแล้ว” คุณสนธิเน้นว่าตอนนี้สังคมไทยได้สูญเสียจิตวิญญาณความเป็นไทยไปหมดเเล้ว โดยจะเห็นได้จากตอนนี้ที่มีข่าวการคอรัปชั่นกันทุกรูปแบบ โกงกันเป็นชีวิตประจำวัน ข่าวการจับบ่อนการพนันครั้งใหญ่ และยังมีข่าวรุ่นพี่ทรมานรุ่นน้องในการรับน้อง สิ่งต่างๆเหล่านี้มันแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยถึงจุดวิกฤต เป็นสังคมที่ไม่มีความพอเพียงอีกต่อไป

ผมนั่งฟังไปฟังมา ผมก็ได้ข้อสรุปว่า “ผมเห็นด้วยกับคุณสนธิ” ครับ และผมก็เชื่อว่ามีท่านผู้อ่านหลายท่านก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน

ผมย้อนคิดเปรียบเทียบเวลาปัจจุบันกับเวลาเมื่อผมยังอยู่ที่ญี่ปุ่น ตอนผมอยู่ญี่ปุ่นนั้น แม้ผมจะอยู่ที่ญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเพียงแค่หนึ่งปี ยอมรับว่าผมไม่ค่อยได้ติดตามข่าวคราวเมืองไทยมากนัก เวลาที่ผมใช้ส่วนใหญ่จะเป็นการท่องเที่ยว สังเกต และศึกษาขนบ ธรรมเนียม วัฒนธรรมของญี่ปุ่นเสียมากกว่า และผมก็รู้สึกว่าผมมีความสุขดี โดยหารู้ไม่ว่า ณ ขณะนั้นประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของผมกำลังเผชิญกับปัญหามากมาย

แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยและอยู่เมืองไทยอย่างถาวรมาประมาณหนึ่งเดือนเศษ ผมเริ่มรู้สึกว่าเมืองไทยนั้นมีปัญหาอยู่มากมายจริงๆ เริ่มรู้สึกว่าประเทศไทยยังล้าหลังประเทศพัฒนาเหล่านั้นอีกมาก ไม่เพียงแค่ทางวัตถุเท่านั้น ทางจิตใจก็ด้วย ผมเกิดคำถามในใจมากมายเช่นว่า ทำไมเจ้าหน้าที่สนามบินดอนเมืองถึงได้หน้าบึงตึงอยู่ตลอดเวลา ช่างแตกต่างจากที่ญี่ปุ่นยิ่งนัก ทำไมเมืองไทยถึงสกปรก ไม่เป็นระเบียบ แผงลอยข้างถนนก็ยังคงขายกีดขวางทางสัญจรของคนเดินเท้าอยู่อย่างนั้น เพียงแค่อ้างว่า “ขายมานานแล้ว” ทำไมรถเมล์เมืองไทยถึงเก่ากึกส์ สกปรก เวลามาป้ายไม่มีมาตรฐาน ทำไมนักการเมืองถึงไม่ลด ละ หรือเลิกคอรัปชั่นเสียที ทั้งๆที่ในหลวง พระองค์ก็ทรงว่ากล่าวตักเตือนมาตลอด ทำไมนโยบายประหยัดพลังงานถึงใช้ไม่ได้ผล ประสบความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์แบบ ทำไมช่วงเวลาน้ำมันแพงอย่างนี้ ไม่มีผู้ประกอบการคนใดเสียสละตรึงราคาสินค้าของตนเลย ทั้งๆที่ก็รู้ว่าทุกคนในประเทศโดยเฉพาะคนจนกำลังลำบากมาก ฯลฯ

ในฐานะที่ผมเคยไปศึกษาต่างประเทศมาบ้าง ผมคิดว่านักเรียนนอกน่าจะแบ่งเป็นสองประเภท ประเภทแรกนั้นเป็นประเภทนักเรียนนอกหัวสูง ที่คอยที่จะว่าแต่เมืองไทย หาว่าเมืองไทยดักดาน หาส่วนดีไม่ได้ ไม่น่าอยู่ แล้วคอยแต่ชมฝรั่ง ชมประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างโน้นอย่างนี้ พูดง่ายๆว่าคือพวกวัวลืมตีนนี่เอง


กับอีกประเภทหนึ่งเป็นนักเรียนนอกที่มีอาการที่ศาสตราจารย์เบเนดิก แอนเดอสันนิยามว่า “ปิศาจเปรียบเทียบหลอน (specter of comparisons)”

กลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะมีอาการปีศาจเปรียบเทียบหลอน ส่วนใหญ่แล้วคือหมู่นักเรียนนอกจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศพัฒนาที่เจริญแล้ว ได้ไปเห็นความเจริญก้าวหน้า เทคโนโลยีที่ทันสมัย สภาพสังคมที่สงบสุข ก็เลยเกิดการเปรียบเทียบประเทศที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมากับประเทศบ้านเกิด เกิดการเปรียบเทียบว่าประเทศที่ตนได้เล่าเรียนมานั้นเป็นดินแดนศิวิไลซ์ เจริญก้าวหน้า อากาศดี ผู้คนมีคุณภาพ ในขณะที่เกิดคำถามว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่เจริญก้าวหน้า ไม่เพียงแค่ทางวัตถุอย่างเดียว ทางจิตใจก็ยังไม่เจริญอีกด้วย และก็คิดต่อไปได้ว่าปัญหาก็คือพวกชนชั้นปกครองที่คอยคิดที่จะโกงกิน คิดแต่จะโกยผลประโยชน์เข้าสู่กระเป๋า และนี่ก็เป็นที่มาของความเสียสละ ความเป็นชาตินิยม ความรู้สึกที่ต้องการจะฟื้นฟู หรือสร้างชาติของตนขึ้นมา ซึ่งแตกต่างกับนักเรียนนอกในกรณีเเรก

เราจะเห็นนักชาตินิยมประเภทนี้ได้มากมาย เอาแค่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราสามารถรับรู้ได้จากประวัติ ผลงานของนักต่อสู้หลายท่านเช่นอองซาน ซูจี ในพม่าซึ่งมีอายุครบ 60 ปีไปหมาดๆ โฮจิมินท์ในเวียตนาม ซูการ์โนในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ในประเทศไทยของเราเองก็เช่น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มคณะราษฎร์ เป็นต้น

ท่านทั้งหลายเหล่านั้นต่างได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ หรือไม่ก็ได้รับการศึกษาจากฝรั่ง และเมื่อร่ำเรียนสำเร็จแล้วก็กลับมารับใช้ชาติบ้านเมืองของตนเองอย่างเต็มความสามารถ สำเร็จบ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่อย่างน้อยท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็ได้ทำ “หน้าที่ของนักเรียนนอก” ของตนเองได้สมบูรณ์แบบ สมควรที่จะเป็นแบบอย่างของนักเรียนนอก ณ ตอนนี้อย่างยิ่งครับ

3 Comments:

At 4:58 AM, Blogger Steelers(钢人) said...

ตอนนั้นหนะ จะว่าไม่เชื่อ ก็ไม่ใช่ จะว่าเชื่อก็ไม่ใช่ แต่ว่าไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์มากกว่า ความคิดคนเราไม่มีวันตรงกันอยู่เเล้ว
แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อของผม ณ ตอนนี้เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นส่วนบุคคล ไม่ได้อิงกับความคิดของใครคนใดคนหนึ่งครับ

 
At 8:03 AM, Blogger logger31 said...

ระหว่าง กลุ่มวัวลืมตีน กับ กลุ่มปิศาจเปรียบเทียบหลอน... เมืองไทยมีกลุ่มไหนมากกว่ากัน?

2 กลุ่มนี้เกือบจะเหมือนกัน แต่กลุ่มปิศาจเปรียบเทียบหลอนมีเลือดรักชาติรักแผ่นดินเข้มข้นกว่ากลุ่มแรก
ไม่เพียงแค่เปรียบเทียบและตั้งคำถามถึงความล้าหลังของประเทศแล้วเก็บเงียบไว้ในใจเพียงอย่างเดียว
ความคิดในทางบวกที่อยากจะช่วยกันฟื้นฟูหรือพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นกว่านี้... เป็นสิ่งที่น่าชมเชย

 
At 7:24 AM, Anonymous Anonymous said...

เขียนได้ดีมากค่ะ คิดว่าจะมีความเจริญทางวัตถุได้ จำเป็นต้องมีพื้นฐานจากความเจริญทางจิตใจก่อน เพราะถ้าพวกชนชั้นปกครองไม่โกงกิน ผู้ประกอบการมีความเสียสละระดับหนึ่ง ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ความเจริญทางวัตถุก็จะสามารถพัฒนาได้ง่ายขึ้น...แต่ปัญหาคือ จะพัฒนาความเจริญทางจิตใจได้อย่างไร

 

Post a Comment

<< Home