Monday, August 22, 2005

ปิดเทอม 3 วัน

วันพฤหัสที่แล้ว การสอบครั้งแรกของชีวิตการเรียนที่สหรัฐอเมริกาครั้งแรกของผมก็สิ้นสุดลง เป็นการสอบกลางภาควิชาเลข หลังจากได้เรียนมาแล้ว 8 วัน ครับ แค่ 8 วันเองครับ และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหานี้ ก็จะเป็นการสอบปลายภาค รวดเร็วปานกามนิต หนุ่มจริงๆครับ

การสอบก็ถือว่าพอไหวนะ เพราะว่าปีผมโชคดีที่เดียวที่เจ้าพ่อพรู๊ฟคนเก่าที่รับผิดชอบการสอนวิชานี้มาตลอด ดันติดธุระ อาจารย์ที่สอนไมโครปีนี้ก็เลยรับผิดชอบแทน ดังนั้นคอร์สเลขปีนี้จึงไม่ค่อยมีพรู๊ฟกันให้ยุ่งยากปวดหัว ค่อนข้างเอียงไปทางapplicationซะเยอะ
และก็เลยทำให้ผมคิดว่าการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ (Mathematics for economists) ปีนี้ ไม่ค่อยเหมือนที่ที่เขาจะมักจะสอนกัน เพราะที่นี่อาจารย์จะเน้น Implicit Function Theorem และ Optimization มาก และไม่ค่อยเน้นการพิสูจน์ต่างๆ อย่างน้อยก็ไม่ค่อยเหมือน math for economists ของอาจารย์ธเนศที่ M.A. Econ TU ที่ผมเรียนมาก่อนมาที่นี่

และเมื่อสอบเสร็จ ความรู้สึกมันเหมือนกับปิดเทอมย่อยๆเลยครับ ถึงแม้ว่าจะมีแค่สามวันเท่านั้น ก็เลยไปเที่ยวกันที่ Southpoint Mall ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในย่าน research triangle นี้ ได้รองเท้ามา 1 คู่

เออ พึ่งรู้เหมือนกันครับว่าที่ UNC นี่มีวิธีคิดเกรดไม่เหมือนชาวบ้านเขา ปกติคนอื่นจะคิดเป็น A B C D บางที่มีประจุหรือไม่มีก็ว่ากันไป แต่ที่นี่คิดเป็น HP P LP F ย่อมาจาก High Pass, Pass, Low Pass, และ Fail ได้ยินมาว่าอาจารย์หลายคนก็มีการถกเถียงกันว่าจะเอายังไงกับระบบการคิดเกรด เขาก็เข้าใจถึงนักเรียนปริญญาโทที่มาเรียนที่นี่และจะไปต่อเอกที่อื่น แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งละที่ไม่สนับสนุนการคิดเกรดแบบนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะวัดผลได้ยังไง

Saturday, August 20, 2005

Tar Heels, Blue devils, and Wolfpack




Thursday, August 11, 2005

สีฟ้าแรงฤทธิ์ UNC,Duke and NCSU


เริ่มเปิดเรียนมาหนึ่งอาทิตย์แล้วครับ เรียนหนักหนาเอาการอยู่ จริงๆที่UNCนี่เปิดเทอมเหมือนมหาวิทยาลัยอเมริกันทั่วไปคือสิ้นเดือนสิงหาคม แต่ทางคณะผมชิงเปิดเทอมก่อน เนื่องจากนักศึกษาต้องเรียนเลขก่อนเข้าไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์จริงๆ แต่โดยทั่วไปแล้วคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ เขาก็มีเปิด math camp เหมือนกัน แต่เขาจะไม่คิดหน่วยกิต คือเรียนเหมือนปูพื้นมากกว่า แต่ที่ UNC นี่ไม่ ที่นี่เขาคิดหน่วยกิตกันตั้งแต่ต้นสิงหาเนี่ยแหละ ทำเอานักเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ที่พึ่งย้ายเข้ามาที่ Chapel Hill หัววุ่นไปตามๆกัน เพราะนอกจากจะต้องหาอพาร์ตเมนต์อยู่ ซื้อข้าวซื้อของ ปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่แล้ว ยังต้องมาปวดหัวกับโจทย์คณิตศาสตร์ยากๆด้วย

อยู่ที่ Chapel Hill มามากกว่าหนึ่งอาทิตย์ เริ่มปรับตัวได้มากขึ้น เหมือนที่กล่าวไว้ในข้อเขียนที่แล้ว ผู้คนที่นี่ก็ยังคง nice เหมือนเดิม สมกับที่ใครหลายคนบอกว่า เมือง Chapel Hill เป็นหนึ่งในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา อันนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่สำหรับบางคน โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) และ North Carolina State University คงจะเถียงหัวชนฝา เหตุผลไม่ใช่ว่าเมืองChapel Hill ไม่น่าอยู่หรอกครับ แต่เป็นเพราะว่า เมืองนี้มี UNC-Chapel Hill ตั้งอยู่ต่างหาก

ที่ผมกำลังจะบอกก็คือ นักศึกษาของทั้งมหาวิทยาลัยดุ๊ก และ NC State University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยดังในย่านนี้ รวมหัวกัน "เกลียด" UNC (ไม่ใช่แค่ไม่ชอบ แต่เกลียดเลย) และถึงแม้ผมจะอยู่เมืองนี้มาแค่อาทิตย์กว่า แต่ผมก็สามารถรู้สึกถึงพลังเกลียดอันนี้ได้ และใช่ว่า UNC จะอยู่เฉยๆ UNC ก็พยายามโต้ตอบทั้งสองมหาวิทยาลัยด้วย แม้กระทั่งศาสตราจารย์ที่นี่ก็เอากับเขาด้วยเหมือนกัน

มีตัวอย่างให้เห็นเพื่อสนับสนุนคำพูดของผมข้างต้นเยอะพอสมควร ซึ่งทำให้คนที่พึ่งมาอยู่ Chapel Hill แวบเดียวอย่างผมสามารถสัมผัสได้

อันแรกก็คือที่ร้านขายเสื้อที่ระลึกของมหาวิทยาลัย ผมเดินดูก็มีเสื้อให้เลือกอยู่หลายแบบหลายลายจนลานตาไปหมด แม้กระทั่งชุดชั้นในหลายสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยก็ยังมี สมแล้วที่ไปไหนมาไหนก็ใส่แต่เสื้อสีฟ้า แต่ผมมาสะดุดกับเสื้อยืดสองสามตัว ตัวนึงเขียนว่า Friends don't let friends go to Duke! อีกตัวเป็นรูปเด็กชายคนนึงนั่งตรงกลางหอมแก้มเด็กผู้หญิงคนหนึ่งนั่งข้างขวาซึ่งใส่เสื้อยืดลาย UNC และมีเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งใส่เสื้อยืดลายดุ๊ก นั่งอยู่ข้างซ้ายของเด็กผู้ชายคนนั้นอย่างโดดเดี่ยว พร้อมข้อความใต้ภาพว่า You picked the right one baby! อีกลายหนึ่งเป็นรูปเด็กนักเรียนในห้องเรียนกำลังยกมือกันอย่างพร้อมหน้า และมีข้อความข้างล่างภาพว่า OK Class... Who can't stand Duke?

นอกจากนี้ตอนที่ผมเรียนเลขอยู่ อาจารย์สอน production function ที่อิงกับ labor อย่างเดียว อาจารย์ยกตัวอย่างมี labor สองประเภทคือ บัณฑิตที่จบจาก UNC และบัณฑิตที่จบจาก Duke โดยสมมุติให้บัณฑิตที่จบจากดุ๊กมีผลิตภาพน้อยกว่า UNC ครึ่งหนึ่ง

วันนี้ผมพึ่งนัดเจอญาติชาวอเมริกันของผมซึ่งจบจาก NCSU คุยไปก็รู้ว่านอกจาก Duke แล้ว NCSU ก็เกลียด UNC เข้าไส้เหมือนกัน และวันนี้เขาเผลอใส่เสื้อสีฟ้าซึ่งเป็นสีของUNCมา ผมก็แซวเขา เขาก็บอกอย่างติดตลกว่าถ้ากลับบ้านไปแล้วจะเผาเสื้อนี้ทิ้งเลย และเขาก็บอกด้วยว่าการแข่งขันบาสเก็ตบอล และอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่นี่สนุกสุดๆ เพราะทั้งสามโรงเรียนจะขับเคี่ยวกันอย่างเอาเป็นเอาตาย คล้ายๆกับฟุตบอลจตุรมิตรยังไงยังงั้น และปีนี้ที่ UNC ชนะได้แชมป์บาสเก็ตบอลระดับมหาวิทยาลัย (NCAA) ทางมหาวิทยาลัยจึงฉลองกันหลายวันหลายคืน นักกีฬาบาสจึงกลายเป็นฮีโร่ไปในชั่วพริบตา

นี่แหละครับประสบการณ์เศษเสี้ยวหนึ่งใน Chapel Hill ของผม

Saturday, August 06, 2005

จดหมายฉบับแรกจาก Chapel Hill

ในที่สุดการเดินทางอันยาวนานจากกรุงเทพโดยสายการบินไทยเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯมาถึงนิวยอร์คและต่อ US Airways มาถึงเมือง Charlotte มาเจอคุณป้าผม และสุดท้ายเราก็ขับรถเกือบ 3 ชม.ขนของพะรุงพะรังมายังเมืองเงียบสงบแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า Chapel Hill ก็สิ้นสุดลง

แวบแรกที่เมือง Chapel Hill นั้นผมรู้สึกว่าเมืองนี้เป็นเมืองเงียบสงบโดยแท้ สองข้างทางที่ผมขับรถผ่านมานั้นมีแค่หมู่บ้านจัดสรรหรืออพาร์ทเมนต์ที่ปลูกอยู่กันห่างๆ

ไฮไลต์ของเมืองChapel Hill นั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากมหาวิทยาลัย North Carolina at Chapel Hill ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งรัฐของสหรัฐอเมริกาแห่งเดียวที่ประศาสน์ปริญญาในช่วงเวลาศตวรรษที่ 18 เพราะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐแห่งแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้น คือเมื่อปี 1789

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยนี้ยังมีชื่อเสียงในด้านความสวยงามของตัวมหาวิทยาลัย โดยถูกเลือกจาก American Society of Landscape Architects ให้เป็น the most beautifully landscaped spots ของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1999 แต่ผมดวงไม่ดีเพราะว่าช่วงที่ผมมาถึงที่นี่เป็นช่วงที่กำลังมีการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารหลายอาคารทำให้ทัศนียภาพไม่สู้จะดีนัก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหลังซ่อมเสร็จแล้วจะสวยเหมือนกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างหรือเปล่า

ไม่ใช่แค่ความสวยงามอย่างเดียว แต่ UNC ก็ยังมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการด้วย ถึงแม้จะไม่สามารถสู้มหาวิทยาลัยเอกชนยักษ์ใหญ่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาได้ (#29 best national university)ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลเพราะมหาวิทยาลัยของรัฐในสหรัฐอเมริกานั้นยากที่จะสู้มหาวิทยาลัยเอกชนได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับเมืองไทยพอสมควร แต่ UNC ก็ถูกจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ดีที่สุดอันดับ 5 ของสหรัฐอเมริกา รองจาก UC Berkeley, U of Michigan-Ann Arbor, U of Virginia, และ UCLA อยู่เหนือมหาวิทยาลัยของรัฐหลายๆแห่งเช่น U Wisconsin-Madison, UCSD, UIUC, UT-Austin, UW, U 0f Maryland- College Park, และ U of Minnesota-Twin Cities และถึงแม้ว่าการจัดอันดับเหล่านี้จะเชื่อถือได้หรือไม่ แต่ผมก็ขอเชื่อไปซักพักก่อนก็แล้วกันครับ และนอกจากนี้ในความเห็นของผม คณะที่ทำชื่อเสียงให้ UNC มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นคณะทางสาธารณสุขศาสตร์และ Kenan-Flagler Business School

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ซักพัก ผมก็สังเกตเห็นได้ว่าผู้คนและนักศึกษาที่นี่เห่อมหาวิทยาลัยนี้มากๆ ผมมองไปทางไหนก็เห็นแต่คนใส่เสื้อสีฟ้าซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย และยิ่งทีมบาสเก็ตบอล UNC Tar Heels ชนะเลิศบาสเก็ตบอลระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ก็ยิ่งทำให้กระแสบ้าเห่อนี้แรงยิ่งขึ้นไปอีก และพลอยทำให้ผมเห่อไปกับเขาด้วยเหมือนกัน

สิ่งที่ผมประทับใจมากอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ก็คือผู้คนที่นี้ nice มากๆ (ขอโทษที่ใช้ภาษาอังกฤษแต่ผมไม่รู้จะใช้คำไทยคำไหนมาอธิบายคำว่า niceได้ เพราะความหมายมันค่อนข้างกว้าง) สาเหตุก็คงจะเป็นเพราะว่าเมืองนี้เป็นเมืองเงียบสงบ สวยงาม ปลอดภัย และเป็นเมืองการศึกษา ซึ่งนอกจากสามารถดึงดูดนักเรียนนักศึกษาจากทั่วโลกมาเรียน ยังสามารถดึงดูดคนเกษียณอายุใช้มาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เมืองนี้ได้มาก ทำให้เมืองนี้ปราศจากการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง และผู้สูงอายุเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะเข้าร่วมกิจกรรมและสัมมนาต่างๆกับทางมหาวิทยาลัยซึ่งสามารถทำประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยได้มากทั้งทางวิชาการและการสันทนาการ และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับชุมชนอีกด้วย

นอกจากนี้ พื้นที่ระหว่าง UNC Duke และ NC State U ถูกเรียกว่าเป็นสามเหลี่ยมแห่งการวิจัย (Research Triangle) เพราะพื้นที่นี้มีสามารถผลิตดุษฎีบัณฑิตมากที่สุดต่อพื้นที่ 1 ตารางไมล์ ทำให้หลายๆบริษัทชั้นนำเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยในพื้นที่แทบนี้กันมาก และด้วยเหตุที่พื้นที่มีคนมีการศึกษาอยู่อาศัยกันมาก ก็คงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนที่นี้มีอัธยาศัยไมตรีดีงาม

แต่ข้อเสียอย่างเดียวที่ผมพบอยู่ตอนนี้ก็คือ ถ้าอยู่เมืองนี้แล้วไม่มีรถก็จะมีชีวิตอยู่ลำบากมาก ถึงแม้จะมีรถเมล์บริการฟรี แต่ก็ไม่สะดวกทันใจและรถเมล์ก็ไปไม่ได้ทุกที่

พูดชมมหาวิทยาลัยมามาก แต่คณะของผมนั้นกลับไม่ได้สร้างความประทับใจให้ผมเหมือนกับที่ผมหวังไว้ ทางวิชาการยังไม่ค่อยรู้มาก เพราะต้องลองเรียนดูก่อน แต่ที่แน่ๆคือสภาพบรรยากาศในคณะไม่ค่อยจะน่าประทับใจ ไม่ใช่ผู้คนไม่เป็นมิตร แต่สภาพภายในอาคารจะดูเก่าๆ ลิฟท์ก็ยังเป็นแบบใช้มือเลื่อนเปิดปิดประตูเอง office ของนักศึกษาก็ดูรกๆ หนังสือหนังหาวางเรียงกันไม่เป็นระเบียบ ไม่รู้เหมือนกันว่าคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆจะมีสภาพเป็นยังไง แต่อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการเรียนส่วนใหญ่ก็คงขึ้นอยู่กับตัวนักเรียนนั่นเอง

แค่นี้ก่อนดีกว่าครับ