Tuesday, May 24, 2005

ความรักของไอ้หนุ่มรถไฟ

ทันทีที่รถไฟสายนัมโบคุแล่นเทียบชานชลาสถานีรถไฟอะกิฮะบะระ ศูนย์รวมสินค้าอิเล็กโทรนิกส์กลางกรุงโตเกียว ไอ้หนุ่มรถไฟขี้อายคนหนึ่งก็ได้ก้าวเท้าขึ้นรถเพื่อจะกลับบ้าน โดยที่เขาไม่ได้รู้ตัวเลยว่า เรื่องที่จะเกิดขึ้นในรถไฟขบวนนี้และในตู้รถไฟนี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิต(รัก)เขาไปทั้งชีวิต

หลังจากที่รถไฟขบวนนี้แล่นออกจากสถานี ไอ้หนุ่มรถไฟคนนี้ก็เหลือบมองเห็นข้างๆเขานั้นคือหญิงสาวน่ารัก ท่าทางใจดีนั่งอ่านหนังสืออยู่ เขารู้สึกประทับใจในบุคลิกภาพและท่าทางใจดีของผู้หญิงคนนี้ ก็เหมือนเราๆท่านๆที่เห็นคนไหนสวยคนไหนหล่อมีบุคลิกที่น่าประทับใจ ก็แอบรู้สึกนิยมชมชอบเขาคนนั้น

"เฮ้ย มึงมานั่งอะไรที่ของกู" คุณลุงที่ท่าทางเมาได้ที่พูดก่อกวนผู้โดยสารคุณป้ากลุ่มหนึ่งที่กำลังเม้ากันอย่างถึงพริกถึงขิง ไอ้หนุ่มรถไฟนั่งข้างๆคุณป้ากลุ่มนี้แหละ เขาก็รู้สึกกลัวและอาย ไม่รู้จะช่วยคุณป้ากลุ่มนี้จากคุณลุงขี้เมาคนนี้ได้อย่างไร แต่เมื่อคุณลุงไม่มีทีท่าที่จะยอมเลิกก่อกวน ไอ้หนุ่มคนนี้ก็รวบรวมความกล้าสุดชีวิต ตะโกนว่า "หยุดเดี๋ยวนี้นะ" ทุกคนในห้องโดยสารตกใจ ไม่นึกว่าเด็กผู้ชายท่าทางเขียมอายคนนี้จะกล้าตะโกนเช่นนั้น

คุณลุงขี้เมาเห็นดังนั้นก็โมโหขึ้นไปอีก พร้อมเหวี่ยงหมัดหวังจะต่อยไอ้หนุ่มรถไฟให้รู้สำนึกแก่ความโอหัง

แต่ด้วยความเมา หมัดนั้นหาได้มุ่งไปยังเป้าไม่ ไอ้หนุ่มรถไฟหลบหมดได้อย่างง่ายดาย หมัดนั้นได้แฉลบไปโดนหญิงสาวที่นั่งอยู่ข้างๆ จนเธอเสียหลักล้มลงจากที่นั่ง ไอ้หนุ่มรถไฟเห็นดังนั้นก็รู้สึกฉุนขึ้นมาเหลือกำลัง ตรงเข้าไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับตาลุงคนนั้น จนเจ้าหน้าที่รถไฟร่างกายกำยำมาถึง ก็รวบตาลุงขี้เมาคนนั้นไว้ได้ ไอ้หนุ่มรถไฟที่รู้สึกกลัวและเหนื่อยก็นั่งหอบอยู่ข้างหญิงสาวคนนั้นนั่นเอง

แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ได้สร้างความประทับใจให้กับหญิงสาวและคุณป้ากลุ่มนั้นมาก และเหตุการณ์นี้เองที่ได้นำให้หญิงชายคู่นี้มาเจอกัน แต่น่าเสียดายที่แทนที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองจะเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างน่าประทับใจ ไอ้หนุ่มรถไฟที่พึ่งต่อสู้กับลุงขี้เมาอย่างกล้าหาญกลับไม่มีความกล้าเพียงพอที่จะตอบรับคำขอบคุณและคุยกับหญิงสาวคนนั้น หลังจากนั้นทั้งสองก็ไม่ได้สนทนาอะไรกันอีกเลย ไอ้หนุ่มรถไฟรู้สึกเสียดายโอกาสและพยายามรวบรวมความกล้าเพื่อที่จะคุยกับหญิงสาวคนนั้น แต่เขาก็ทำไม่สำเร็จ

เหตุกาณ์เหมือนจะจบลง แต่คุณป้ากลุ่มนั้นและหญิงสาวคนนั้นได้ขอเบอรโทรศัพท์และที่อยู่ของไอ้หนุ่มรถไฟเพื่อที่จะส่งของขวัญขอบคุณไปให้ หลังจากแยกทางกันแล้ว ไอ้หนุ่มรถไฟถึงฉุดคิดได้ว่า "ทำไมกูไม่ขอเบอร์ผู้หญิงคนนั้นมาบ้างวะ"

สองวันถัดมามีพัสดุถูกส่งมาถึงบ้านของไอ้หนุ่มรถไฟ จ่าหน้าว่ามาจากหญิงสาวคนนั้น ในพัสดุนั้นมีถ้วยกาแฟราคาแพง บ่งบอกถึงฐานะของผู้ส่งได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งนั้นไม่สำคัญเท่ากับที่จ่าหน้ากล่องพัสดุมีเบอร์โทรศัพท์ของหญิงสาวคนนั้นติดอยู่เพื่อให้บุรุษไปรษณีย์ติดด่อกลับในกรณีที่พัสดุถูกส่งไม่ถึงที่หมาย

ไอ้หนุ่มรถไฟขี้อายนั้นเมื่อทราบเบอร์ของหญิงสาวคนนั้นแล้วกลับรู้สึกว่าตนไม่มีน้ำยา(ความสามารถ)เพียงพอที่จะตัดสินใจว่าควรจะโทรศัพท์ไปหาเธอคนนั้นเพื่อแสดงความขอบคุณดีมั้ยและถ้าโทร จะพูดอย่างไร โชคดีที่เขาได้อาศัยอินเตอร์เน็ตแช็ตกับกลุ่มคนที่เขาไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน และกลุ่มคนนี้เองที่ได้เป็นเพื่อน คอยให้กำลังใจ คำปรึกษาตลอดช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้น สมหวัง ผิดหวังของไอ้หนุ่มรถไฟคนนี้

เรื่องราวของไอ้หนุ่มรถไฟที่ยอมทุ่มทุกอย่างเพื่อหญิงสาวคนนั้นแต่ไม่รู้แม้กระทั่งวิธีการชวนผู้หญิงออกเดทจะเป็นอย่างไร ไอ้หนุ่มรถไฟจะประสบความสำเร็จในความรักหรือไม่ คงต้องตามหาอ่านกันเอาเองนะครับในการ์ตูนเรื่องไอ้หนุ่มรถไฟ(ผมแปลเอง)หรือชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า densha no otoko

ผมเองเป็นคนที่ไม่ค่อยอ่านการ์ตูนมากนัก แต่เมื่อก่อนกลับจากญี่ปุ่นหนึ่งวันผมก็ลองซื้อการ์ตูนเล่มนี้อ่านดูโดยคิดว่าลองอ่านหน้าปกแล้วน่าจะเป็นเรื่องคล้ายๆกับประสบการณ์ของผม การ์ตูนเรื่องนี้เคยถูกทำเป็นนิยายมาก่อน และนิยายเรื่องนี้ก็โด่งดังไปทั่วเกาะญี่ปุ่นครับ ผมอ่านแล้วก็รู้สึกว่าไม่ผิดหวังจริงๆครับ เนื้อหามันกินใจชวนให้นึกถึงความหลังครับ และผมก็เชื่อว่าน่าจะตรงกับประสบการณ์ทางด้านความรักของท่านผู้อ่านหลายๆคน ผมเองไม่ได้มีเจตนามาโฆษณาการ์ตูนเล่มนี้นะครับ (แต่มีขายที่คิโนะคุนิยะภาคภาษาญี่ปุ่นและหวังว่าคงจะมีการแปลเป็นภาษาไทยเร็วนี้)แต่เพียงแค่อยากจะมาถ่ายทอดความประทับใจของผมที่มีต่อการ์ตูนเรื่องหนึ่ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะโชคดีทางด้านความรักนะครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ผมก็อยากจะให้มีความพยายามเหมือนไอ้หนุ่มรถไฟนี้ครับ โชคดีครับ

Monday, May 23, 2005

ความในใจหลังกลับจากญี่ปุ่น

สวัสดีครับ หายหน้าหายตาไปซะนาน ลืมกันไปหรือยังครับ ผมไม่ได้อัพเดทบล๊อกไปนานก็เพราะว่าผมเตรียมตัวเดินทางกลับเมืองไทยอยู่ครับ ตอนนี้ก็อยู่เมืองไทยเรียบร้อย อากาศไม่ได้ร้อนอย่างที่คิดไว้ กลับมาถึงก็ฟาดส้มตำ ไก่ย่าง สุกี้MK ไปเรียบร้อยและวันจันทร์ก็พึ่งไปกินโออิชิมาอีก นอกจากนี้ก่อนกลับจากญี่ปุ่นก็เดินสายงานเลี้ยงทุกวัน งานนี้โคเลสเตอรอลถามหาแน่ ก็เลยต้องวางแผนแก้เผ็ดด้วยการกินกระเทียมเยอะๆ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ วันที่25นี้ต้องไปตรวจร่างกายเพื่อไปทำวีซ่าครับ งานนี้เขาบอกว่าเขาจะเอาจริง ถ้าโคเลสเตอรอลเกินสองร้อยเมื่อไหร่ มีปัญหาแน่ ก็เลยต้องเตรียมตัวไว้ก่อนครับ

ครับ ผมอยู่ญี่ปุ่นมาหนึ่งปี ปีนี้ก็เป็นปีที่สอง แต่ปีแรกกับปีที่สองค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก หนึ่งก็คืออยู่คนละเมืองกัน ปีแรกอยู่ที่โตเกียว ปีที่สองอยู่ที่โอซาก้า ก็ได้ประสบการณ์อะไรใหม่ๆมาเยอะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้มาจากการไปอยู่ญี่ปุ่นปีที่สองนั้นค่อนข้างจะเหนือความคาดหมายไปซะมากครับ นั่นก็คือ ผมได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับคนไทยที่อาศัยอยู่มากมายที่โอซาก้า (แทนที่จะเป็นคนญี่ปุ่นกลับเป็นคนไทย)

ความจริงผมก็ไม่ได้เป็นคนกว้างขวางอะไรหรอกครับ แต่ผมคิดว่าไปญี่ปุ่นคราวนี้ได้รู้จักคนไทยที่โน่นเยอะพอสมควร สนิทบ้าง ไม่สนิทบ้าง คนไทยที่ผมรู้จักที่โน่นส่วนใหญ่ก็คือนักเรียนไทยที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า นักเรียนไทยเหล่านี้ถือเป็นคนหัวกะทิที่ผมไม่เคยคิดว่าผมจะมีโอกาสรู้จักกันทั้งนั้นครับ ทั้งนักเรียนเหรียญทองแดงคณิตศาสตร์โอลิมปิกหัวก้าวหน้า นอกจากนี้ยังมีคุณหมอเก่งๆอีกหลายคน ทันตแพทย์สุดสวยอีกมาก วิศวกรอนาคตไกลอีกก็เยอะ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นดีก็หลายคน นักวิจัยไบโอเทคฝีมือดีๆเยอะแยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาญี่ปุ่นอีกเพียบ และเภสัชกรชื่อดังอีกด้วย ทั้งนักเรียนทุนรัฐบาลไทยและทุนรัฐบาลญี่ปุ่น กลุ่มคนเหล่านี้ผมเชื่อมั่นว่าจะต้องกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างแน่นอน และผมก็อยากจะบอกพวกเขาว่าผมยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับ ที่ได้ใช้ชีวิต ร่วมทุกข์ร่วมสุข สนุกสนานเฮอาบ้างมีปัญหาบ้าง แต่อย่างน้อยผมก็คิดว่าเราคนไทยด้วยกันย่อมต้องมีความรักสามัคคีกันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว

สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเขาเหล่านั้นสามารถเรียนจบกลับมาอย่างราบรื่นและใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นอย่างมีความสุขครับ

Tuesday, May 17, 2005

อะไรทำให้รถไฟJRตกราง

ท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่านคงทราบกันถึงเหตุการณ์รถไฟของบริษัท JR West ตกรางที่เมืองอะมะกะซะกิ จังหวัดเฮียวโกะ (เป็นจังหวัดที่อยู่ติดโอซาก้าที่ผมอยู่เลยครับ และในจังหวัดนี้มีเมืองที่มีชื่อเสียงมากของญี่ปุ่นคือเมืองโกเบนี่เอง) อุบัติเหตุนี้ ผมสามารถพูดได้คำเดียวครับว่า "ช๊อก" โดยเฉพาะสำหรับชาวญี่ปุ่นผู้ที่ภาคภูมิใจกับระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟอันทันสมัยด้วยแล้ว เมื่อได้ยินข่าวนี้ก็แทบจะล้มทั้งยืนเลยครับ และเหตุการณ์นี้ยังถือได้ว่าเป็นอุบัติเหตุทางรถไฟที่ร้ายแรงที่สุดของญี่ปุ่นในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว

สำหรับผู้ที่ทราบข่าวนี้เเล้วสามารถข้ามย่อหน้านี้ไปได้เลย แต่ถ้าอยากอ่านก็ไม่ว่ากัน แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบ ผมจะขอกล่าวโดยสรุปดังนี้ครับ อุบัติเหตุรถไฟตกรางนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2005 เมื่อเวลาประมาณ 9.20 น. เมื่อรถไฟของบริษัท JR West สายทะกะระซึกะ (宝塚)หรือมีอีกชื่อเรียกว่า ฟุกุจิยะมะ (福知山)ได้วิ่งมาด้วยความเร็วสูงกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งสูงกว่าระดับความเร็วสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และได้ตกรางแล้วพุ่งเข้าชนแมนชั่นที่อยู่ข้างรางรถไฟ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 106 คน บาดเจ็บ 540 คน (อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์โยะมิอุริ ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2005)

ท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามข่าวนี้อยู่บ้างก็คงจะพอทราบดีว่า สาเหตุหลักๆของอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากการที่พนักงานขับรถไฟขับรถเร็วเกินกำหนด ผมคิดว่าเมื่อเราศึกษาสาเหตุอันนี้ดีจะสามารถพบถึงข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ ซึ่งผมคิดว่าสาเหตุที่ แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ก็คือการแข่งขันกันอย่างรุนแรงจนแทบมองหน้ากันไม่ติดระหว่างบริษัทรถไฟ JR West และบริษัทรถไฟเอกชน

ในช่วงแรกที่ผมมาอยู่โอซาก้าใหม่ๆ ผมประทับใจมากกับระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟอันทันสมัยของเมืองนี้ แทบจะเรียกได้ว่าสามารถแข่งกับมหานครโตเกียวได้สบายๆ (คนโอซาก้าคงบอกอย่างภูมิใจว่า "แน่นอนอยู่แล้ว") แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผมอยู่เมืองนี้ไปซักพัก ผมก็เริ่มรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างระบบรถไฟที่นี่กับระบบรถไฟในเขตเมืองโตเกียว และเริ่มรู้สึกว่าระบบขนส่งด้วยรถไฟของโอซาก้าสู้โตเกียวไม่ได้ (ขอโทษคนโอซาก้าด้วยครับที่ต้องพูดแบบนี้)

ในเมืองโตเกียวนั้นบริษัทรถไฟ JR East กับบริษัทรถไฟเอกชนนั้น มีเส้นทางวิ่งร่วมกันหลายเส้นทาง บ่อยครั้งที่มีการใช้สถานีร่วมกัน เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนขบวนรถไฟระหว่างบริษัทได้ นอกจากนี้ที่สถานีรถไฟชินจุกุซึ่งถือว่าเป็นสถานีรถไฟที่สำคัญมากของกรุงโตเกียว บริษัทรถไฟ JR Eastและบริษัทรถไฟเอกชนซึ่งมี2บริษัทคือ โอดะคิว (小田急)และเคอิโอ(京王)ก็ยังใช้ช่องเสียบตั๋วร่วมกัน คือผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลาคืนตั๋วและเดินทางไปอีกบริษัทเพื่อซื้อตั๋วและเสียบตั๋วเข้าสถานีใหม่ สถานีรถไฟเหล่านี้เชื่อมต่อกันเลยครับ สะดวกอย่างยิ่งสำหรับผู้โดยสารที่รีบร้อนไปทำธุระสำคัญ และระหว่างบริษัทรถไ ฟด้วยกันนั้นก็ยังมีการก่อสร้างทางร่วมกัน มีการใช้เส้นทางเดินรถร่วมกันระหว่างบริษัท เช่นเมื่อรถไฟใต้ดินวิ่งขึ้นเหนือดินก็จะกลายเป็นการบริการของอีกบริษัทหนึ่งไป (เหมือนกับรถไฟฮันคิวกับรถไฟใต้ดินซะไกซึจิที่ไปเทนคะจะยะที่คนโอซาก้ารู้จักดี) นอกจากนี้ยังมีการสร้างระบบคิดอัตราค่าโดยสารร่วมกัน และระบบแลกเปลี่ยนพนักงานระหว่างบริษัท (อ้างอิงจากหนังสือ 徹底比較!関東人と関西人 หน้า 32) เรียกกันได้ว่าให้บริการผู้โดยสารกันอย่างเต็มที่

แต่ทว่าสิ่งที่ผมกล่าวมาบนย่อหน้าที่แล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ในเขตคันไซ สถานีรถไฟ JR Osaka มีความยิ่งใหญ่และสำคัญพอๆกับสถานีชินจุกุในโตเกียว แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ เมื่อผู้โดยสารต้องการจะเปลี่ยนไปใช้รถไฟเอกชนต้องเดินอย่างน้อยสิบนาทีมาสถา นีรถไฟเอกชนเช่นฮันคิว(阪急)และฮันชิน(阪神) สำหรับคนไทยสิบนาทีอาจจะน้อย ไม่สำคัญอะไรมาก แต่สำหรับคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะคนโอซาก้า สิบนาทีนั้นสำคัญเหลือเกิน นอกจากนี้ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าบริษัทรถไฟฮันคิวและฮันชินยังไม่ยอมตั้งชื่อสถานีตัวเองว่า โอซาก้าอีกต่างหาก แต่หันไปใช้ อุเมดะ (梅田)แทน ทั้งๆที่สถานที่ก็คือที่เดียวกัน เป็นที่น่าฉงนงงงวยสำหรับเราๆท่านๆเป็นอย่างยิ่ง และสำหรับนักท่องเที่ยวแล้วก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย แสดงให้เห็นว่าตอนเริ่มก่อสร้างสถานีใหม่ๆคงฟึดฟัดกับ JR น่าดู

นอกจากนี้บริษัทรถไฟทั้งสามข้างต้นยังเปิดบริการวิ่งรถระหว่างโอซาก้าและโกเบ ซึ่งเส้นทางวิ่งใกล้กันมาก แทบจะเรียกได้ว่าสามารถเห็นรถไฟต่างบริษัทวิ่งสวนกันเลย สถานีก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ดันตั้งชื่อสถานีไม่เหมือนกัน เช่นสถานีอะชิยะ (芦屋)ของ JR และฮันชิน แต่ฮันคิวเรียกว่าอะชิยะกะวะ (芦屋川)สถานีร๊อคโค (六甲)ของฮันคิว JR เรียกของตัวเองว่า ร๊อคโคมิจิ (六甲道)และสถานีโอะกะโมะโตะ (岡本) ของฮันคิว ซึ่งอยู่ห่างกับสถานีของ JR บล๊อกถนนเดียว แต่ JR ดันเรียกสถานีตัวเองว่า เซ็ทซึโมะโตะยะมะ (摂津本山)ผมเองก็ไม่รู้นะครับว่าสาเหตุที่เขาตั้งชื่อต่างกันเพราะอะไร แต่ผมตั้งข้อสังเกตุว่ามันอาจจะแสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันของบริษัท JR กับบริษัทรถไฟเอกชนครับ ท่านผู้อ่านคิดว่ายังไงครับ

น่าสงสาร JR Westจริงๆครับที่ต้องมาทำธุรกิจรถไฟในดินแดนที่ได้ชื่อว่า สวรรค์ของรถไฟเอกชน(私鉄天国) อย่างคันไซ เพราะนอกจากฮันคิวและฮันชินแล้วยังมีบริษัทรถไฟเอกชนอีกมากในเขตคันไซเช่นเคอิฮัง (京阪)ที่วิ่งระหว่างเกียวโต-โอซาก้า ซันโย(山陽電鉄)ที่วิ่งไปฮิเมะจิ(姫路)คินเท็ทซึ (近畿日本鉄道)ที่วิ่งระหว่างโอซาก้ากับนะระ อิเซะ(伊勢) จนถึงนะโกะยะ และนันไก(南海)ที่วิ่งระหว่างโอซาก้ากับวะกะยะมะ(和歌山)ทั้ง 4 บริษัทนี้รวมทั้ง JR ฮันคิวและฮันชิน รวมบริษัททั้งหมด 7 บริษัท ได้เปิดบริการเดินรถไฟครอบคลุมทั่วอาณาเขตคันไซเลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อสถานหารณ์เป็นดังนี้ ในขณะที่บริษัทรถไฟเอกชนใช้นโยบายราคาถูกมาแข่ง JR ได้หันมาใช้นโยบายแข่งขันโดยใช้ความเร็วเป็นตัวชูโรง JR West เปิดตัวรถเร็วแบบใหม่ (新快速)ที่วิ่งด้วยความเร็วถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่วิ่งเร็วรองแค่ชินกังเซ็น (新幹線)เท่านั้น และก็เป็นรถไฟชินไคโซะกุ(新快速)นี้แหละครับที่ประสบอุบัติเหตุตกราง ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมทางรถไฟที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีของญี่ปุ่น

Wednesday, May 11, 2005

ว่าด้วยโตเกียวและโอซาก้า 東京と大阪について

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ในฐานะที่ผมจะกลับเมืองไทยในวันที่21นี้ ผมอยากจะถือโอกาสนี้แสดงความคิดเห็น ในประเด็นที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นที่ฮอตที่สุด สำหรับผมตอนนี้ ที่ว่าฮอตนี่ไม่ใช่หมายความว่าเป็นที่พูดคุยกันในหมู่ชาวญี่ปุ่นนะครับ แต่เป็นสิ่งที่ผมให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ นั่นก็คือความแตกต่างระหว่างโตเกียวเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นกับเมืองโอซาก้าครับ ผมคิดว่าข้อเขียนอันนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ไม่เคยอยู่ญี่ปุ่น และเพื่อให้เพื่อนๆของผมในญี่ปุ่นมีโอกาสแสดงความคิดเห็นด้วย

ผมเคยอยู่ญี่ปุ่นมาปีนี้เป็นปีที่สอง สังเกตว่าประเทศญี่ปุ่นมีเมืองใหญ่หลายเมือง ซึ่งก็เป็นลักษณะของประเทศที่พัฒนา แล้วมีการกระจายความเจริญ ไปเกือบทุกส่วนของประเทศ ซึ่งต่างจากประเทศไทย ที่ทุกอย่างจะมารวมกับอยู่ที่กรุงเทพ ที่ว่าใหญ่ในที่นี่ไม่ได้รวมแค่จำนวนประชากรอย่างเดียว แต่รวมถึงความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจด้วย เมืองใหญ่เหล่านี้ก็มีโตเกียว โยโกฮาม่า โอซาก้า นะโกย่า ฟุกุโอกะ ซัปโปโร เกียวโต และโกเบ และในบรรดาเมืองใหญ่เหล่านี้ เมืองที่ถือว่าเป็นคู่แข่งกันมาตั้งแต่หลายร้อยปีมาแล้วก็คือโตเกียว ซึ่งอีกชื่อหนึ่งก็คือเอะโดะ กับโอซาก้า (จริงๆต้องเขียนว่าโอซะกะแต่ผมจะเขียนว่าโอซาก้าเพื่อให้เข้ากับธรรมเนียมการอ่านของคนไทย) ในปีแรกที่ผมมาอยู่ญี่ปุ่นนั้นผมได้มีโอกาสไปอยู่โตเกียว ได้ยินได้เห็นอะไรมาพอสมควร ดังนั้นเมื่อมีโอกาสมาอยู่ญี่ปุ่นอีกเป็นคำรบที่สอง ผมก็ไม่ลังเลที่จะเลือกอยู่ที่โอซาก้า เพราะผมคิดอยู่เสมอว่าถ้าอยากจะรู้จักญี่ปุ่นอย่างแท้จริง อยู่โตเกียวไม่พอครับ ต้องมาอยู่ในดินแดนแถบคันไซที่มีโอซาก้าเป็นศูนย์กลางด้วย ถึงจะรู้จักญี่ปุ่นอย่างถึงกึ๋น ทีนี้คำถามก็คือทำไม ในความคิดของผม ตำตอบก็คือเมืองทั้งสองเมืองนี้มีความเหมือนที่อยู่ในความแตกต่างครับ

ที่ว่าความเหมือนนี้ก็คือเมืองทั้งสองนี้มีบทบาทที่สำคัญมากในพัฒนาการของประเทศญี่ปุ่น เมื่อเราไปโอซาก้าหรือโตเกียว เราจะพบว่าสภาพบ้านเมืองมีความเจริญ ตึกรามบ้านช่องสูงสง่า ใหญ่โต มีระบบการขนส่ง โดยเฉพาะระบบรางที่มีประสิทธิภาพ ซับซ้อน และคลอบคลุม มีท่าเรือใหญ่โต มีการถมที่ออกนอกทะเลเพื่อสร้างแผ่นดินเพิ่ม มีสนามบินที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและสองของประเทศ ทั้งสองเมืองเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในขณะที่โตเกียวจับตามองไปยังอเมริกา ยุโรป โอซาก้ากลับมองมายังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในขณะที่โตเกียวเป็นศูนย์กลางทางการเงิน โอซาก้ากลับเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรม โดยโอซาก้าทั้งจังหวัดมีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงกว่าทั้งประเทศแคนาดาเสียอีก (อ้างอิงจากหนังสือหน้าต่างสู่โลกกว้าง ฉบับประเทศญี่ปุ่น) โตเกียวมีดิสนีย์แลนด์ โอซาก้าก็มียูนิเวอร์แซล สตูดิโอ แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่าโอซาก้าเป็นรองโตเกียวในเรื่องขนาดของเมืองและของระบบขนส่งมวลชน โดยที่โตเกียวจะมีระบบขนส่งขนาดใหญ่มากกว่า โตเกียวมีรถไฟใต้ดิน 12 สาย ส่วนโอซาก้ามี 7 สาย โตเกียวกับโอซาก้าเป็นเพียงเมืองสองเมืองของญี่ปุ่นที่มีรถไฟ JR วิ่งรอบเมืองเป็นวงกลม (環状線) โดยโตเกียวมีจำนวนสถานีบนสายรถไฟนี้ถึง29สถานี ในขณะที่ของโอซาก้ามีแค่ 19สถานีเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าโตเกียวเป็นมหานครที่ใหญ่กว่าโอซาก้า และเมื่อเรามานับจำนวนชุมทางรถไฟที่สำคัญของเมืองแล้วปรากฏว่าโตเกียวมีชุมทางที่สำคัญ (ในความคิดของผม) ถึง 6 แห่งคือ Shinjuku Shibuya Shinagawa Tokyo Ueno และ Ikebukuro ในขณะที่โอซาก้ามี 4 แห่งคือ Osaka Namba Tennoji และ Shin-Osaka

อย่างไรก็ตาม โอซาก้านั้นนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญมาก่อนโตเกียวซะอีก ในฐานะประตูสู่เกียวโตซึ่งมีฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศในสมัยก่อน สาเหตุก็เพราะว่ามีผู้คนมาอาศัยในดินแดนแถบที่ราบคันไซมาตั้งแต่ยุคโบราณและได้สร้างอารยธรรมขึ้นที่นี่เมื่อประมาณ 1500 ปีมาแล้ว ตอนนั้นดินแดนแทบที่ราบคันโตที่ที่โตเกียวอยู่นั้นยังเป็นป่าอยู่เลยครับ ทั้งๆที่ที่ราบคันโตมีขนาดใหญ่กว่าที่ราบคันไซมาก และโอซาก้ามาเข้าถึงยุคความรุ่งเรืองอย่างขีดสุดในสมัยที่โตะโยะโทะมิ ฮิเดะโยะชิสามารถรวมญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียวได้ และได้ตั้งโอซาก้าเป็นศูนย์กลางในการปกครองประเทศ และสร้างประสาทโอซาก้าอันสวยงาม (ประสาทที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ถูกสร้างใหม่ในสมัยเอโดะ ถ้าผมจำไม่ผิด) โอซาก้าในสมัยนั้น เปรียบเสมือน "ครัว"ของญี่ปุ่นครับ เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าของกินของใช้นานาชนิด เพื่อส่งป้อนให้กับเกียวโต ในขณะที่เกียวโต สงบเงียบ ลุ่มลึก และอ่อนช้อยสมกับเป็นเมืองที่ประทับของจักรพรรดิ โอซาก้ากลับมีชีวิตชีวาในฐานะเมืองการค้า และประวัติศาสตร์อันยาวนานอันนี้นี่เองก็เป็นสิ่งที่คนโอซาก้าภาคภูมิใจมาจนถึงทุกวันนี้ และก็สามารถพูดได้ว่าความเป็นคนโอซาก้านี้ดำรงมาได้ถึงปัจจุบัน ผมสามารถสังเกตได้ว่าโอซาก้าเป็นเมืองที่เร่าร้อน จริงใจ และมีชีวิตชีวา คนโอซาก้าจะเป็นคนจริงใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส เร่งรีบและมีหัวการค้า ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากหลายๆอย่างครับ

1. คนโอซาก้าพูดภาษาญี่ปุ่นสำเนียงโอซาก้า (โอซาก้าเบน) ซึ่งผมพูดได้คำเดียวว่า "เหน่อ" คนโอซาก้าไม่ว่าจะไปที่ไหน เขาก็จะพูดภาษาญี่ปุ่นสำเนียงโอซาก้า ถึงแม้จะไปโตเกียวก็ตาม เปรียบเทียบได้กับคนอีสานพูดภาษาอีสานเมื่อเข้ามากรุงเทพซึ่งดูแล้วน่ารักน่าเอ็นดู ภาษาโอซาก้าเบนนั้นยิ่งฟังยิ่งชวนให้หัวเราะครับ ไม่ใช่หัวเราะเพราะขำมุกหรือดูถูกความคิดเขานะครับ แต่หัวเราะเพราะภาษาของเขาน่ารัก ไม่เป็นทางการ ผิดกับภาษาญี่ปุ่นมาตรฐานที่โตเกียวที่ฟังดูแล้วดูเป็นทางการ ขนาดเปรียบเทียบคำพูดของผู้สูงอายุในโตเกียว ยังนับว่าฟังดูเป็นทางการอยู่มาก และในการนี้เองครับที่คนโตเกียวมักจะเอาจุดนี้มาดูถูกคนโอซาก้า เหมือนคนกรุงเทพดูถูกคนพูดภาษาอีสานยังไงยังงั้น นอกจากนี้ภาษาญี่ปุ่นแบบโอซาก้าไม่ได้แตกต่างกับภาษาญี่ปุ่นโตเกียวแค่สำเนียงอย่างเดียว แต่แตกต่างถึงไวยากรณ์บางอย่าง คำศัพท์ สำนวนบางคำ หนึ่งในข้อแตกต่างที่ผมประทับใจมากที่สุดก็คือ คนโอซาก้าจะเรียกผู้ชายที่อ่อนวัยกว่าว่า โอนี่จัง แปลว่า น้องชาย ถึงแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ไม่ถือตัวของคนโอซาก้าได้เป็นอย่างดี ที่โอซาก้า แม้แต่คนรุ่นคุณยายยังเรียกผมว่าโอนี่จังเลย ในขณะที่ตอนที่ผมอยู่โตเกียว ไม่มีใครเรียกผมอย่างนี้เเม้แต่ครั้งเดียว

2. ในขณะที่โอซาก้าเป็นเมืองการค้าที่ทุกอย่างต้องเร่งรีบ โตเกียวในสมัยก่อนกลับเป็นเมืองของนักรบ (ชนชั้นซามูไร) ที่ทรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและความสง่างาม สิ่งนี้ส่งผลต่อผู้คนของทั้งสองเมืองนี้ด้วย คนโอซาก้าจะเป็นคนรีบร้อน ในขณะที่คนโตเกียวเมื่อเปรียบเทียบกับโอซาก้าแล้วอาจดูช้ากว่า เคยมีคนทำสำรวจเกี่ยวกับความเร็วในการเดินของคนโอซาก้ากับโตเกียว ปรากฏว่าคนโอซาก้ามีระยะในการเดินต่อวินาทีสูงกว่าคนโตเกียว นอกจากนี้ผมยังสังเกตได้ว่าคนโอซาก้าไม่ค่อยชอบที่จะรอสัญญาณไฟเวลาข้ามถนน ซึ่งจะแตกต่างจากโตเกียวที่เคร่งครัดกว่า

3. เนื่องจากโอซาก้าเป็นเมืองการค้ามาแต่โบราณ คนโอซาก้าจะมีค่านิยมชอบของถูก ในขณะที่คนโตเกียวจะมีรสนิยมชอบของแพง (大阪は安い物自慢、東京は高い物自慢)หมายความว่าสมมุติมีหญิงชายคู่หนึ่งจะไปออกเดทกัน ถ้าทั้งคู่เป็นคนโอซาก้า พวกเขาจะไปเสาะ แสวงหาร้านอาหารราคาถูกและอร่อย และเขาก็จะภาคภูมิใจมากที่สามารถหาร้านที่ถูกและอร่อยได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าทั้งคู่เป็นคนโตเกียว ทั้งคู่จะมีค่านิยมที่ว่า ของดีของอร่อยต้อง "แพง" พวกเขาก็จะพยายามเสาะหาร้านแพงๆ บรรยากาศดีๆ ทีนี้ถ้าแต่ละฝ่ายเป็นคนโตเกียวกับโอซาก้าแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะออกเดทกันยังไง

ทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนฝูงชาวญี่ปุ่นของผมซึ่งทุกคนอยู่ที่โตเกียว ผมจะถามเขาอยู่เสมอว่าโอซาก้าเป็นยังไง คำตอบส่วนใหญ่ก็คือพวกเขาไม่ค่อยรู้จักโอซาก้า แต่เขาจะมีภาพในหัวของเขาว่าโอซาก้ามีอะไรมากมายที่แตกต่างจากโตเกียว เพื่อนผมมาจากโตเกียวยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโอซาก้ามีย่านนัมบะและชินไซบาชิที่มีชื่อเสียง บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้คนที่โอซาก้ายืนบนบันไดเลื่อนทางขวา ซึ่งต่างกับโตเกียวซึ่งยืนทางซ้าย คนโตเกียวกับคนโอซาก้านั้นมองภาพเหมือนว่าตนเองนั้นอยู่คนละประเทศกัน ทั้งนี้เนื่องจากถึงแม้ประเทศญี่ปุ่นจะมีขนาดเล็กกว่าประเทศไทยแต่สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง สลับซับซ้อน มีการเดินทางไปมาหาสู่กันลำบาก

ทุกวันนี้คนโตเกียวกำลังภาคภูมิใจบ้านเมืองตนเองในฐานะเมืองหลวงอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ถึงแม้ว่าโตเกียวจะเกิดหลังโอซาก้าก็ตาม สำหรับโอซาก้านั้น ดูเหมือนจะมีการพัฒนาด้วยความเร่งที่ช้าลง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าอัตราการว่างงานในโอซาก้าซึ่งถือเป็นเมืองอุตสาหกรรม ชั้นนำนั้นสูงที่สุดในญี่ปุ่นคือประมาณ7%เลยทีเดียว ทางด้านการศึกษานั้นก็ดูเหมือนว่าคนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับโอซาก้ามาก มหาวิทยาลัยโตเกียวถือเป็นมหาวิทยาลัยของจักรวรรดิ (Imperial University) ถูกแต่งตั้งเป็นอันดับแรก มหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นอันดับสอง ในขณะที่มหาวิทยาลัยโอซาก้าถูกสถาปนาเป็นอันดับหก ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยโอซาก้าถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่น โดยถูกถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐอันดับสาม แต่ดูเหมือนความมีชื่อเสียงจะเป็นรองมหาวิทยาลัยโตเกียวและเกียวโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราพิจารณาจากศิษย์เก่าที่มีบทบาทในภาคการเมืองและเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ผมแทบจะไม่เห็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยโอซาก้าเลย

แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนานั้นไม่มีวันสิ้นสุด ทุกวันนี้มีการเรียกร้องเพื่อที่จะกระตุ้นให้คนโอซาก้าร่วมมือร่วมใจกันพัฒนา บ้านเมืองเพื่อให้สามารถแข่งขันกับโตเกียวได้ ในสมัยที่โอซาก้าตามหลังโตเกียวมากๆ ได้มีการใช้วิธีทางไสยศาสตร์เลยทีเดียว คือคนโอซาก้าเปลี่ยนวิธีการเขียนชื่อของเมืองใหม่จาก 大坂 เป็น 大阪 ทั้งที่ตัวคันจิ 阪 ตัวนี้ไม่เคยถูกใช้ในญี่ปุ่นมาก่อน สาเหตุที่คนโอซาก้าพร้อมใจกันเปลี่ยนตัวอักษรคันจิของเมืองตนเองนั้นก็เนื่องจากว่าตัวคันจิตัวเดิมมีตัวอักษร 土 ที่เเปลว่าพื้นดินซึ่งมีความหมายในแง่ลบอยู่ ทุกวันนี้ผมพูดได้คำเดียวครับว่า คนโอซาก้าก็ยังเป็นคนโอซาก้าอยู่ ที่ยังรักษาสัญลักษณ์ของตัวเองเอาไว้อย่างเหนียวเเน่น และที่สำคัญคือพวกเขากำลังจับตามองโตเกียวอยู่ข้างหลังอย่างใกล้ชิดครับ

Tuesday, May 10, 2005

สบายๆสไตล์steelers

วันนี้ก็เป็นวันแรกนะครับที่ผมๆได้มีโอกาสเขียนเว็บบล็อก ก็ถือโอกาสนี้ทักทายผู้อ่านที่มีอยู่น้อยนิด แล้วก็ฝากเนื้อฝากตัวก้นด้วยนะครับ ผมเองผมก็อยากจะมีส่วนร่วมกับชุมชนวิชาการนี้ อยากให้เราๆท่านๆสามารถแลกเปลี่ยนความคิดได้อย่างเสรี ไม่ถูกกำจัดโดยระยะทาง ผมเองก็ขอเริ่มต้นแบบสบายๆก่อนก็แล้วกันนะครับ โดยช่วงแรกๆนี้ก็จะถือโอกาสใช้เว็บบล็อกนี้เป็นไดอารี่ส่วนตัวไปก่อน ถ้าฝีมือแก่กล้าขึ้น ก็หวังว่าจะสามารถสอดแทรกสาระลงไปบ้างไม่มากก็น้อย

ครับ ในที่สุดวันนี้ผมก็ได้ทราบซะทีครับว่าผมสามารถกลับเมืองไทยได้เมื่อไหร่ ผมจะกลับเมืองไทยวันที่21เดือนห้านี้แล้วครับ ในที่สุดการเดือนทางอันทรหดครั้งที่เจ็ดก็ได้ถูกกำหนดแล้ว ที่ผมเรียกการเดินทางครั้งที่เจ็ดก็เพราะว่าตั้งแต่ผมมาญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษาปี่ที่แล้ว รวมทั้งหมดแล้วเดินทางไปกลับเมืองไทยทั้งหมดหกครั้งแล้วครับ ครั้งนี้ก็คือครั้งที่เจ็ดนี่เอง เดือนทางไปกลับบ่อยจนเพื่อนที่มาส่งที่สนามบินตอนที่ผมเดินทางมาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกนั้นบ่นอุกไปตามๆกันว่า ถ้ารู้ว่าอีกสองเดือนมันก็กลับมาแล้ว กูไม่น่ามาส่งมันเลย แต่ที่ผมกลับไปนั้นก็เนื่องด้วยเหตุผลที่จำเป็นนะครับ เพราะผมต้องบินกลับไปสัมภาษณ์และจัดการเรื่องทุนกพ รวมค่าเครื่องบินทั้งหมดก็เกือบแสนบาท

พูดถึงเรื่องเงินนี้ก็ต้องนึกถึงรัฐบาลญี่ปุ่นเขาละครับ ผมเป็นหนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่มากครับ ถึงตอนนี้ก็นึกถึงทุนที่ใจกว้างมากกว่าทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ ตอนนี้ก็ยังรู้สึกผิดอยู่ไม่หายที่ตัดสินใจรับทุนเขาแล้วแต่กลับไม่เรียนที่ญี่ปุ่น ถึงตอนนี้ก็คิดอยู่ในใจว่าอยากจะทำอะไร ตอบแทนรัฐบาลญี่ปุ่นบ้างในอนาคตและก็อยากจะให้รุ่นน้องที่ชอบที่จะเรียนที่ญี่ปุ่นจริงๆมาสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่นกันมากๆ เพราะทุนเขามีข้อดีมากมาย ข้อแรกก็คือรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินเดือนมากจริงๆ ถ้าเทียบเป็นเงินไทยเเล้วประมาณ 65,000บาท เทียบกับเงินที่กพ ให้นักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่อเมริกาไม่ได้เลยที่ ประมาณ 43,000บาท แต่จะมาเปรียบเทียบสถานะทางการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลไทยได้ยังไงละครับ จริงมั้ย เอาเป็นว่านักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่างก็อู้ฟู่และมีชีวิตที่สุขสบายไปตามๆกัน

สองก็คือที่ญี่ปุ่นนี่ทีมาตรฐานการครองชีพที่ดีมาก ชีวิตที่นี่พูดได้เต็มปากเลยว่า นอกจากเรื่องเรียนแล้ว ชีวิตที่นี่ไม่ลำบากเลย การคมนาคมสะดวก อันนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับระบบรถไฟอันสุดแสนจะสะดวกสบาย (ก็ไม่แน่นะ เพราะพึ่งมีอุบัติเหตุรถตกรางไปเอง) นอกจากนี้อาหารที่นี่ก็อร่อยและหากินได้ง่าย และก็สะอาด วางใจได้

และสามก็คือเราสามารถเรียนรู้อะไรจากคนญี่ปุ่นได้มากครับ ด้านหนึ่งเขาก็เป็นคนจริงจัง ทำอะไรต้องละเอียดอ่อน เน้นทั้งmeans และ ends อีกด้านหนึ่งเขาก็เป็นคนน่ารัก ใจดี และถ้าเราแสดงกริยาที่จริงใจ ยิ้มแย้ม และที่สำคัญต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ผมว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่คบด้วยไม่ยากครับ

สรุปแล้วนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ดีสุขสบายในระดับหนึ่ง แต่สำหรับผมเองนั้น ผมมีเหตุผลที่จะยกเลิกทุนนี้ครับ เหตุผลหลักก็คือเรื่องการเรียน ผมว่ามหาวิทยาลัยดังๆในญี่ปุ่นนั้นมีการเรียนการสอนที่เข้มข้นมากไม่แพ้ที่ไหนในโลก นักเรียนที่นี่เขาก็ตั้งใจเรียนกันมาก มากกว่าที่หลายคนพูดกัน แต่ปัญหามันอยู่ที่ภาษาญี่ปุ่นครับ ในห้องเรียนมีแต่ภาษาญี่ปุ่น นอกห้องเรียนก็มีแต่ภาษาญี่ปุ่น นอกจากนี้นักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนญี่ปุ่น ในห้องเรียนอาจารย์สอนเป็นภาษาญี่ปุ่น คือแค่ภาษาอังกฤษก็แทบแย่อยู่แล้ว ยังต้องฟังเป็นภาษาญี่ปุ่นอีก ก็ใบ้กินละครับงานนี้ ส่วนนอกห้องเรียนก็เป็นภาษาญี่ปุ่น และนักเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นคนญี่ปุ่น เหตุผลนี้มันทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้มากเท่าที่เราอยากทำครับ นักเรียนญี่ปุ่นเขาถกเถียงอะไรกันทางวิชาการ เราก็รู้สึกแปลกที่เราจะเข้าไปร่วม เพราะภาษาเราก็ไม่แข็งขนาดนั้น และผมก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แตกต่างกับการเรียนระดับบัณฑิตวิทยาลัยที่อเมริกาที่มีความเป็นนานาชาติสูง นักเรียนมีสิทธิมีเสียงพอๆกัน (ไม่รู้ใช่หรือเปล่า แต่ผมคิดแบบนี้) เพราะฉะนั้นเราก็สามารถมีบทบาทอะไรได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการเรียนที่ญี่ปุ่นนี้ดีก็จริง แต่ดีก็กับชาวญี่ปุ่นด้วยกัน ไม่ค่อยเอื้อกับคนต่างชาติมากนัก แต่ตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเขาก็มีความพยายามเพิ่มความเป็นานาชาติให้กับมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นอยู่ ด้วนการให้ทุนนักศึกษาต่างชาติมาเรียนที่ประเทศของเขา แต่ถ้าจะให้ดี ผมอยากจะให้เขาช่วยปรับปรุงระบบอะไรให้มันเอื้อกับคนต่างชาติมากกว่านี้ แต่ผมคิดว่าก็ทำยากมากนะครับเพราะสังคมญี่ปุ่นมันเป็นแบบนี้ เป็นสังคมที่ค่อนข้างปิดอยู่แล้ว

นอกจากนี้ที่ผมตัดสินใจรับทุนกพก็เพราะความภูมิใจส่วนตัวที่อยากจะเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทย อยากทำงานเป็นข้าราชการรับใช้ประเทศไทย ซึ่งผมหวังและคิดว่าผมน่าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้บ้าง

แค่นี้ก่อนละกันนะครับ เอาแค่เซิบๆไปก่อน พบกันครั้งหน้าครับ

こんにちは

こんにちは